นักวิทยาศาสตร์อเมริกันเตือนองค์การอนามัยโลก ควรดำเนินมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสซิกาก่อนสายเกินไป ชี้มีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดรุนแรงเหมือนไวรัสอีโบลา ที่เคยระบาดรุนแรงมากในแอฟริกาตะวันตก
เมื่อวันที่ 28 ม.ค.59 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ออกโรงเตือนองค์การอนามัยโลก หรือ WHO (ฮู) ควรดำเนินมาตรการอย่างเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกา เนื่องจากมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง เหมือนการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาเลยทีเดียว และขณะนี้ไวรัสซิกา ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรคกำลังเกิดการระบาดในภูมิภาคลาตินอเมริกา และแถบแคริบเบียน
นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน ได้เรียกร้ององค์การอนามัยโลก ผ่านวารสารการแพทย์สหรัฐฯว่า องค์การอนามัยโลกควรจะระวังจากบทเรียนการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา และคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อร้ายแรงควรมีการประชุมฉุกเฉินในเรื่องนี้ โดยนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ยังชี้ว่า วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสซิกาอาจพร้อมสำหรับการทดสอบใน 2 ปีข้างหน้า แต่คงต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี กว่าจะสามารถนำมาใช้กับคนทั่วไป
บีบีซี แจ้งว่า ประธานาธิบดีดิลมา รูสเซฟ แห่งบราซิล ได้เรียกร้องให้ประเทศในภูมิภาค ลาตินอเมริกา ผนึกความร่วมมือในการต่อสู้กับการระบาดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่เด็กทารกเกิดมามีขนาดศีรษะเล็กผิดปกติ เนื่องจากมารดาติดเชื้อไวรัสซิการะหว่างตั้งครรภ์ อีกทั้งตอนนี้ยังมีประชาชนหลายพันคนที่ติดเชื้อไวรัสซิกา และเชื้อร้ายได้แพร่ระบาดไปยังประมาณ 20 ประเทศแล้ว ที่น่าวิตกคือตอนนี้ ทางการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาอาการป่วยให้แก่ผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาได้ และอยู่ระหว่างการคิดค้นวัคซีนป้องกัน
ที่มา thairath