เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ประธานคณะกรรมการสลากฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯ มีมติเห็นชอบไม่ต่ออายุสัญญารับสลากฯ ไปจำหน่าย (โควตาสลากฯ) กับนิติบุคคลทั้งหมด รวมทั้งองค์กร หรือมูลนิธิต่าง ๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้พิการ รวมทั้งสิ้นกว่า 2,495 แห่ง รวมทั้งสิ้น 15.8 ล้านฉบับ หรือคิดเป็น 7.9 ล้านคู่ โดยให้มีผลตั้งแต่งวดวันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป และส่งผลให้ต่อจากนี้ไป จะไม่มี 5 เสือ หรือเรียกได้ว่า เป็นการอวสานปิดตำนาน 5 เสือลงทันที
ทั้งนี้ การไม่ต่ออายุโควตาสลากฯ ให้นิติบุคคลทั้งหมด รวมทั้งองค์กร หรือ มูลนิธิต่าง ๆ เนื่องจากสำนักงานสลากฯ ต้องการนำส่วนดังกล่าวเข้ามาสู่โครงการสั่งซื้อ-สั่งจองสลากฯ ล่วงหน้า เพื่อให้เป็นการดำเนินงานตามแผนงานระยะที่ 2 (โรดแมประยะที่ 2) เพราะต้องการแก้ปัญหาการขายสลากฯ เกินราคาที่เอาเปรียบสังคมมาเป็นเวลานาน ซึ่งจะช่วยให้สลากฯ กระจายให้กับผู้ค้ารายย่อยมากที่สุด และประชาชนก็จะซื้อสลากฯ ได้ในราคาคู่ละ 80 บาท ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ตั้งเป้าหมายไว้
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลรายงานบรรยากาศโครงการสั่งซื้อ-สั่งจองสลากฯ ล่วงหน้า ทั้งวันที่ 3 ต.ค.และวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก โดยมีการทำธุรกรรมของโครงการดังกล่าวผ่านระบบเน็ตแบงก์ ของธนาคารกรุงไทย เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สลากฯ ในระบบทั้งสั่งซื้อ-สั่งจองสลากฯ ล่วงหน้าหมดลงอย่างรวดเร็ว เพราะเกิดจากการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงของประชาชนในการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
“สำนักงานสลากฯ ยืนยันว่าจะไม่พิมพ์สลากเพิ่ม เกินกว่าความสามารถในการพิมพ์แต่ละงวดอยู่ที่ 100 ล้านฉบับหรือคิดเป็น 50 ล้านคู่ เนื่องจากการไม่ต่ออายุสัญญาดังกล่าวจะทำให้ประชาชน เข้ามาจองสลากฯ ล่วงหน้าจากเดิมที่จองได้งวดละ 26 ล้านฉบับ หรือคิดเป็น 13 ล้านคู่ เพิ่มขึ้นเป็น 41.8 ล้านฉบับ หรือคิดเป็น 20.9 ล้านคู่ ประกอบกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องการให้มุ่งเน้นเสี่ยงโชคการ พนันมากเกินไป โดยเชื่อว่าการดำเนินงานดังกล่าว ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เพื่อให้กลไกของตลาดสลากฯ ออกฤทธิ์ และปรับตัวได้อย่างสมบูรณ์” พล.ท.อภิรัชต์กล่าว
พล.ท.อภิรัชต์ กล่าวว่า ไม่กังวลว่าจะถูกนิติบุคคล องค์กร หรือ มูลนิธิต่าง ๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนพิการเข้ามาฟ้องร้อง เนื่องจากได้ดำเนินตามสัญญาที่ทำไว้ร่วมกัน เมื่อหมดสัญญา สำนักงานสลากฯ จึงมีสิทธิ์ที่จะคัดสรรสลากฯ ใหม่ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการกระจายสลากฯให้กับผู้ค้ารายย่อย และประชาชนสามารถซื้อได้ในราคาคู่ละ 80 บาท โดยยอมรับว่าพนักงานสลากฯ บางส่วนอาจไม่พอใจบ้าง แต่ที่ผ่านมาได้หารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีแล้ว ว่าจะปรับฐานเงินเดือน และโบนัสให้กับเจ้าหน้าที่ พนักงาน ทุกราย เพื่อทดแทนสวัสดิการเดิมที่หายไป ขณะที่ การเปิดจำหน่ายผ่านออนไลน์ ยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการ เพราะต้องการดูผู้ค้าสลากฯ รายย่อยก่อน
พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ผู้อำนวยการสลากฯ กล่าวว่า กระบวนการและระยะเวลาตามมติที่คณะกรรมการไม่ต่อโควตาสลากฯ นั้น ส่งผลให้ต้องปรับลดสัดส่วนการพิมพ์ใหม่ เนื่องจากปัจจุบันสำนักสลากฯ ได้พิมพ์สลากฯ สูงสุดแต่ละงวดไว้ที่ 100 ล้านฉบับ หรือคิดเป็น 50 ล้านคู่ แบ่งเป็น ระบบโควตา 74 ล้านฉบับ หรือคิดเป็น 37 ล้านคู่ และดำเนินการผ่านโครงการสั่งซื้อ-สั่งจองสลากฯ ล่วงหน้า 26 ล้านฉบับ หรือคิดเป็น 13 ล้านคู่ เมื่อการยกเลิกโควตาสลากฯ นิติบุคคล องค์กร หรือมูลนิธิต่าง ๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนพิการมีผลบังคับใช้ จะทำให้งวดวันที่ 17 ธ.ค. มีสลากฯ สั่งซื้อ 7.9 ล้านคู่ และสั่งจองงวดวันที่ 30 ธ.ค. มีสลากฯ เปิดให้จองได้กว่า 41.8 ล้านฉบับ หรือคิดเป็น 20.9 ล้านคู่ ซึ่งประชาชนสามารถเข้ามาสั่งซื้อ-สั่งจองสลากฯ ได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สำนักงานสลากฯ จะประเมินผลการดำเนินงานตามมติของคณะกรรมการอีกครั้ง โดยให้เวลา 3 เดือน หรือการจำหน่ายสลากฯ 3 งวด ซึ่งจะครบในเดือน ม.ค.59 ก่อนที่นำมาประเมินอีกครั้งว่า แนวทางดังกล่าวได้ผลที่น่าพอใจหรือไม่ แต่เบื้องต้นมองว่าการไม่ต่อสัญญาจะช่วยให้สลากฯ ในระบบเกิดความเท่าเทียมกัน เพราะดำเนินการผ่านโครงการสั่งซื้อ-สั่งจองสลากฯ อย่างยุติธรรม
รายงานข่าวจากสำนักงานสลากฯ กล่าวว่า สำหรับ 5 เสือจะเป็นชื่อเรียกในอดีต แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ 3 เสือ หรือนิติบุคคล 3 รายใหญ่เท่านั้น ประกอบด้วย บริษัท สลากมหาลาภ จำกัด, บริษัท หยาดน้ำเพ็ชร และห้างหุ้นส่วนขวัญฤดี ที่มีบทบาทในสลากฯ มาเป็นเวลานาน
ที่มา เดลินิวส์