เมืองลพบุรีมีประวัติศาสตร์ยาวนานมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ทุกยุคทุกสมัย สมควรศึกษาสมควรสนับสนุนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทีมข่าวสูงข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่คนลพบุรีลืม ลืมไปและถูกลืมในทรงจำ ไม่รอช้ามุ่งหน้าไปที่วัดแห่งนี้ ที่ทุกคนทิ้งร้างและถูกลืมไปยาวนาน ทีมข่าวสูงข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี จะ ปลุก วัดแห่งนี้ฟื้นมาอีกครั้ง วัดไก่ ลพบุรี
วัดไก่ เป็นวัดร้าง เหลือแต่ร่องรอยของโบราณสถาน ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๕ ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ไม่ปรากฏเอกสารระบุถึงประวัติการก่อสร้างที่ชัดเจนนัก แต่จากโครงการบูรณะโบราณสถานเมืองลพบุรี โดยหน่วยศิลปากรที่ ๑ ลพบุรี ระหว่างวันที่ ๒๗ มิถุนายน ถึง ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๔ ได้นำมาสู่ข้อสันนิษฐานว่า โบราณสถานวัดไก่น่าจะเคยเป็นส่วนหนึ่งของป้อมปราการในสมัยสมเด็จพระราเมศวรเสด็จมาครองเมืองลพบุรี (พ.ศ.๑๘๙๓-๑๙๑๒ และ พ.ศ.๑๙๑๓-๑๙๓๑) ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงและเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่สำคัญมากของกรุงศรีอยุธยา โดยในครั้งนั้นสมเด็จพระราเมศวรได้ทรงโปรดให้สร้างป้อม คูเมือง และกำแพงเมืองเพื่อป้องกันข้าศึกศัตรู ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๙๑ ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้นได้ทำสงครามกับพม่าตลอดเวลา จึงโปรดให้รื้อป้อมปราการและกำแพงเมืองลพบุรีออก ด้วยเกรงจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายพม่ามากกว่า ดังนั้นป้อมและกำแพงเมืองลพบุรีในสมัยสมเด็จพระราเมศวรจึงถูกรื้อถอนลงทั้งหมดตั้งแต่คราวนั้น คณะผู้ทำงานยังพบว่ามีร่องรอยการดัดแปลงโบราณสถานแห่งนี้ด้วยการสร้างเจดีย์ทรงเหลี่ยมย่อมุมปิดทับด้านบนป้อม ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีกด้วย (พ.ศ.๒๒๐๙-๒๒๓๑) จากนั้นเมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว วัดแห่งนี้ก็ชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา
มีหลักฐานเป็นภาพเก่าก่อนการพังทลายของเจดีย์ เป็นภาพนักศึกษา ป.ม.ศ โรงเรียนเพาะช่าง ถ่ายไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ในการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะจากสถูปมอญสมัยทวารวดี ซึ่งปรากฏในหนังสือ “ลพบุรีที่น่ารู้” ของ รศ.หวน พินธุพันธ์ อดีตอาจารย์วิทยาลัยครูเทพสตรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๑๕ หน้า ๒๒๙ ที่มีข้อความว่า “วัดไก่เป็นวัดร้างที่ตั้งอยู่ริมถนนสายวัดไก่ ถ้าเดินจากสระแก้วไปตามถนนนเรศวร คือไปทางทิศเหนือแล้วเลี้ยวขวา ข้ามสะพานชลประทานไปจะเห็นซากพระเจดีย์ของวัดนี้อยู่ทางซ้ายมือ ห่างจากคลองชลประทานไม่มากนัก น่าเสียดายที่พระเจดีย์ได้พังทลายลงมาเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง ลักษณะของเจดีย์ก่อนหักพังทลายลงมาก็คล้ายกับพระเจดีย์ที่วัดชีป่าสิตารามนั้นเอง คงจะสร้างรุ่นราวคราวเดียวกัน ที่พระเจดีย์องค์นี้ทางกรมศิลปากรเคยทำการขุดค้นแต่ไม่ทราบว่าพบอะไร น่าเสียดายเหมือนกันที่อนาคตของวัดนี้จะเป็นอย่างไร เพราะอยู่ใกล้กับเขตของชลประทานด้วย”
ภาพซ้ายเป็นเจดีวัดไก่ (ถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗) ภาพขวา เป็นเจดีย์วัดชีป่าสีตาราม (ถ่ายเมื่อ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๑)
โบราณสถานวัดไก่ในปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก โดยร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีที่ยังปรากฏหลงเหลือให้เห็นนั้น ได้แก่ ฐานเจดีย์ก่ออิฐสอดินผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๑๘ x๑๘ เมตร แนวอิฐที่ก่อล้อมรอบฐานเจดีย์ขนาด ๑.๕ x ๒๑ เมตร และแนวบันไดกับทางเดินเชื่อมด้านทิศตะวันออกของเจดีย์เท่านั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโบราณสถานแห่งนี้เคยถูกลักลอบขุดหาสิ่งของมีค่า อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการจัดสรรพื้นที่รอบๆ โบราณสถานเพื่อตัดถนนและเป็นที่ตั้งอาคารบ้านเรือนของผู้คนภายในเขตชุมชนวัดไก่ด้วย หลักฐานส่วนใหญ่จึงถูกทำลายจนได้รับความเสียหายไปเป็นอันมาก
อาณาเขตรอบโบราณสถานวัดไก่ในปัจจุบันนี้ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม โดยทางทิศเหนือและทิศตะวันออกติดกับอาคารบ้านเรือนประชาชน ทางทิศตะวันตกติดถนนเลียบคันคลองส่งน้ำชลประทาน และทิศใต้ติดถนนเข้าหมู่บ้าน ทั้งนี้พบว่ารอบโบราณสถานวัดไก่มีการแบ่งกั้นอาณาเขตออกจากภายนอกด้วยรั้วปูนประกอบไม้เตี้ยๆ
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๒๔ เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๙สมควรสนับสนุนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในด้านโบราณคดีดึงเงินเข้ามาจากตัวจังหวัดลพบุรีทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เสริมอีกครั้งหนึ่งด้วยฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องลงสำรวจตรวจสอบพัฒนาเป็นแหล่งเที่ยว. ต่อไปและของบประมาณสนับสนุนการพัฒนาแหล่งนี้เชื่อว่านักท่องเที่ยวให้ความสนใจในสถานที่นี้หน่วยงานไหนที่เกี่ยวข้องลงสำรวจและพัฒนาต่อไป ทีมข่าวสูงข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพตาลพบุรีจะรายงานความคืบหน้าต่อไป
ใจรัก วงศ์ใหญ่ ข่าว/ สมชาย. เกตุฉาย ภาพ/ ศูนย์ข่าว 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี