การทำบุญข้าวสาก นิยมทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประจำทุกปี ที่เรียกว่า “บุญข้าวสาก” เนื่องจากเมื่อจัดทำข้าวปลาอาหาร และเครื่องไทยทานต่าง ๆ อุทิศให้ ผู้ล่วงลับไปแล้ว จะทำสากหรือสลาก มีคำอุทิศส่วนกุศลใส่กระดาษบันทึกชื่อ ผู้มีจิตศรัทธาบริจาค และความประสงค์ว่าจะบริจาคทานให้แก่ผู้ใด โดยบอกชื่อผู้ที่จะ มารับส่วนกุศลด้วย
บุญข้าวสากหรือสลาก เป็นการทำบุญอย่างหนึ่งของประเพณีสิบสองเดือน หรือ “ฮิตสิบสอง” (ฮีต มาจากคำว่า จารีต ฮีตสิบสอง คือ จารีตประเพณีสิบสองเดือน) ของชาวอีสาน โดยมีจุดประสงค์สำคัญ เพื่อมุ่งอุทิศส่วนกุศลให้ญาติสนิท เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดา สามี ภรรยา พี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว และอาจอุทิศให้ เปรตทั่วไปด้วย
ก่อนถึงกำหนดวันทำบุญข้าวสาก คือ ราววันขึ้น 13 – 14 ค่ำ เดือนสิบ ชาวบ้าน จะเตรียมอาหารชนิดต่าง ๆ มีทั้งข้าว เนื้อ ปลา ข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอก ขนม และอาหารคาวหวานอื่น ตลอดจนผลไม้ต่าง ๆ ไว้สำหรับทำบุญ สำหรับข้าวเม่า ข้าพอง และข้าวตอกนั้น จะคลุกเข้ากันโดยใส่น้ำอ้อย น้ำตาล ถั่วงา มะพร้าว ให้เป็นข้าวสาก (ข้าวกระยาสารท) แต่บางท้องถิ่นไม่นำข้าเม่า ข้าพอง และข้าวตอก มาคลุกเข้าด้วยกัน คงแยกไปทำบุญเป็นอย่าง ๆ เมื่อเตรียมสิ่งของทำบุญเรียบร้อย แล้ว ชาวบ้านจะเอาข้าวปลาอาหารที่มีอยู่ไปส่งญาติพี่น้องและผู้รักใครีนับถือ อาจส่งก่อนวันทำบุญหรือส่งในวันทำบุญเลยก็ได้ สิ่งของเหล่านี้มักแลกเปลี่ยนกัน ไปมา ระหว่างญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เรือนเคียง ถือว่าเป็นการได้บุญ
เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบ ตอนเช้า ชาวบ้าน จะพากันนำอาหารคาวหวานต่าง ๆ ไปทำบุญตักบาตร ที่วัด โดยพร้อมเพรียงกัน และถวายทานอุทิศส่วนกุศล ให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้ว
ตอนสาย ชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหารที่เตรียมไว้ เป็นข้าวสาก ไปวัดอีกครั้งหนึ่ง เอาอาหารต่าง ๆ จัดเป็น สำหรับหรือชุดสำหรับถวายทาน หรือถวายเป็นสลากภัต โดยจัดใส่ภาชนะต่าง ๆ แล้วแต่ความนิยม ของแต่ละท้องถิ่น บางแห่งจัดใส่ถ้วยหรือบางแห่งใช้ทำ เป็นห่อทำเป็นกระทงด้วยใบตองกล้วย หรือกระดาษ แต่ละบ้านจะจัดทำสักกี่ชุดก็ได้ตามศรัทธา ก่อนที่จะถวาย ข้าวสากแด่พระภิกษุสามเณร จะกล่าวคำถวายข้าวสาก หรือสลากภัตพร้อมกัน
เมื่อเสร็จพิธีถวายข้าวสากแล้ว ช้าวบ้านที่ไปร่วมพิธี ยังนิยมเอาชะลอมหรือห่อข้าวสากไปวางไว้ตามที่ต่าง ๆ ในบริเวณวัด พร้อมจุดเทียนและบอกกล่าวให้ญาติ หรือเปรตผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารต่าง ๆ ที่วางไว้ และขอให้มารับส่วนกุศลที่ทำบุญอุทิศไปให้ด้วย (ผู้จัดทำ ก็เคยทำสมัยเป็นเด็กกับมารดา)
ภายหลังจากการถวายข้าวสากแด่พระภิกษุสามเณร และนำอาหารไปวางไว้ตามบริเวณวัดเสร็จแล้ว ก็มีการฟังเทศน์ฉลองข้าวสาก และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ไปให้เปรตและญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่มีนา จะนำข้าวสากไปเลี้ยง “ตาแฮก” ที่นาของตน เพื่อให้ตาแฮกรักษานาและให้ข้าวกล้าอุดมสมบูรณ์ เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก
วันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบนี้ ชาวจีนถือเอาเป็นวันไหว้พระจันทร์
คนภาคกลาง เรียกว่า เป็นบุญข้าวสารท
คนไทยภาคเหนือ เรียกว่า วันทำบุญสลากภัตร (เชียงใหม่เรียกว่าบุญ ๑๒ เป็ง)
พี่น้องชาวใต้ เรียกว่า บุญชิงเปรต
อีสาน เรียกว่า บุญข้าวสาก
เป็นประเพณีการทำบุญที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรกหรือเปรต