ข้าวเปี่ยง: ขนมไทยยวน บ้านหนองกระเบียน บ้านหมี่ ลพบุรีศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี ตามเอกสารเผยแพร่ของวัดหนองกระเบียน ตำบลหนองกระเบียน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ให้ข้อมูลกับทีมข่าว ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี ทีมข่าวสำนักข่าวเดลืซันเดย์ ว่า ข้าวเปี่ยง ในภาษาล้านนาหมายถึงเศษข้าวหักๆ ที่เหลือจากการสีข้าว โดยสมัยก่อนนำมาทำขนมชนิดนี้ บ้างเรียกว่าข้าวหนมเปี่ยง หรือขนมลิ้นหมา เป็นขนมที่ทำมาจากแป้งข้าวเหนียวดำ (ซึ่งทางภาคเหนือเรียก “เข้าก่ำ”) นวดกับน้ำจนหนืดแต่ไม่เละ เติมเกลือให้มีรสเค็มเล็กน้อย บ้างใช้แป้งข้าวเหนียวสีขาวนวดกับน้ำอ้อยและเกลือให้มีรสหวานๆ เค็มๆ นำมะพร้าวขูดคลุกกับน้ำตาลทราย ช่วยให้ขนมอร่อย และน่ารับประทาน ซึ่งปัจจุบันหากินได้ยากแล้ว แต่ด้วยความที่ชาวบ้านหนองกระเบียนเป็นชาวไทยยวน (โยนก) ที่อพยพมาจากอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ซึ่งบรรพบุรุษอพยพมาจากเชียงแสน จึงทำให้มีภูมิปัญญาการทำขนมชนิดนี้ติดตัวมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนผสม: ประกอบด้วย แป้งข้าวเหนียวดำ ๒ ถ้วยตวง แป้งข้าวเหนียวขาว ๑-๒ ถ้วยตวง มะพร้าวทึนทึกขูดขาว ๓ ถ้วยตวง น้ำอ้อยป่น ๑ ช้อนโต๊ะ ดอกเกลือหรือเกลือ ๑ ช้อนชา
วิธีทำ:
๑. นำแป้งข้าวเหนียวดำ แป้งข้าวเหนียวดำขาว น้ำอ้อย ดอกเกลือ ผสมเข้าด้วยกัน ค่อยๆผสมน้ำเย็นลงไป นวด ใส่น้ำ นวดเข้าด้วยกัน ค่อยๆ ผสมน้ำเย็นลงไปนวดทีละน้อยจนแป้งเหนียวนุ่ม ค่อนข้างจะเหลวนิดหน่อยแต่ไม่เละ พอได้ที่แล้วพักแป้งไว้เตรียมห่อ
๒. นำใบตองมาทำความสะอาดจากนั้นฉีกตามยาวให้ได้ขนาดประมาณ ๒ นิ้ว ตัดแต่งหัวท้ายแล้วนำน้ำมันพืชทาเพื่อไม่ให้ขนมติดใบตอง
๓. นำแป้งขนมมาห่อใบตองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เมื่อพับใบตองเรียบร้อยแล้วให้รีดขนมให้แบนตามขนาดใบตอง นำไปนึ่งให้สุก ใช้เวลาประมาณ ๑๕-๒๐ นาที
๔. นำมะพร้าวไปคลุกกับเกลือเล็กน้อย พอขนมสุกดีแล้วนำมาแกะออกแล้วคลุกกับมะพร้าวในขณะที่ยังร้อนอยู่ กินคู่กับน้ำอ้อยหรือน้ำตาลทราย ถ้าเก็บไว้กินนานๆ ก็ให้นำมะพร้าวไปนึ่งก่อนสัก ๑๐ นาที แต่ถ้ากินกับมะพร้าวที่ขูดสดๆ จะได้รสชาติที่ดีกว่า
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมที่ ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วัดหนองกระเบียน ตำบลหนองกระเบียน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ๐๖-๕๕๓๖-๘๓๙๒
ใจรัก วงศ์ใหญ่ ข่าว/ สำนักข่าวเดลิซันเดย์ สมชาย. เกตุฉาย. ภาพ/ ศูนย์ข่าว 5. เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี