รมว. พลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.เพชรบูรณ์ ตรวจเยี่ยมระบบสูบน้ำแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง ช่วยเสริมฐานความมั่นคงรายได้เกษตรกรตามแนวทางไทยนิยมยั่งยืน ติดตามโครงการผลิตและขนส่งน้ำมันดิบแหล่งวิเชียรบุรี ยืนยันความโปร่งใสและตรวจสอบได้ พร้อมเยี่ยมชมโครงการพลังงานลมเขาค้อ เพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสะอาด
ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดเพชรบูรณ์ วันที่ 17 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นภารกิจส่วนหนึ่งของการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ โดยติดตามโครงการด้านพลังงานที่สำคัญในพื้นที่ ได้แก่ โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง (ระบบเกษตร) พื้นที่ต.บ้านกล้วย โครงการผลิตน้ำมันดิบบนบก แหล่งวิเชียรบุรี และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม เขาค้อ
ทั้งนี้ การตรวจเยี่ยมโครงการสูบน้ำแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง (ระบบเกษตร) ที่ ต.บ้านกล้วย อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ได้รับการสนับสนุนระบบการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร หลังจากประสบปัญหาภัยแล้ง และไม่สามารถได้รับผลผลิตการเกษตรได้อย่างเต็มที่ โดยเบื้องต้นจากการนำระบบสูบน้ำฯ ที่ได้รับจากการจัดสรรงบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเมื่อปี 2559 พบว่ามีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากชาวบ้านกลุ่มที่ 1 ประมาณ 163 ไร่ และชาวบ้านกลุ่มที่ 2 ประมาณ 174 ไร่ โดยเกษตรกรในพื้นที่ก่อนที่จะมีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพาะปลูกข้าวและข้าวโพด รายได้เฉลี่ยจากเดิม 6,000 บาทต่อไร่ต่อปี เมื่อได้รับระบบสูบน้ำเข้ามาช่วยทำให้สามารถเพาะปลูกพืชผักพื้นดิน และผักสวนครัวเพิ่มเติม เช่น ปลูกถั่วเขียว มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นประมาน 10,000 บาท ต่อไร่ต่อปี ระบบ สูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้มีน้ำแน่นอน ปลูกพืชต่างชนิดในฤดูแล้งได้
โดยจากความสำเร็จของโครงการฯ ที่ผ่านมา จึงมีการขยายให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ที่สนใจขอรับการติดตั้งระบบ สูบน้ำแสงอาทิตย์ โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน ฯ อนุรักษ์พลังงานเพิ่มเติมอีก ซึ่งขณะนี้มีเกษตรอีก 2 กลุ่มที่พร้อมจะเข้าร่วมโครงการฯ แต่อยู่ระหว่างขั้นตอนข้อเสนอโครงการเพื่อพิจารณา ที่เอกสารยังไม่สมบูรณ์ โดยการลงพื้นที่ ในครั้งนี้ ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะร่วมกันรับฟังปัญหาของชาวบ้าน และให้คำปรึกษา ตลอดจนจะเร่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านที่มีความต้องการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์
ส่วนการเยี่ยมชมแหล่งน้ำมันดิบวิเชียรบุรีนั้น เป็นการเยี่ยมชมในแปลงสำรวจหมายเลข L44/43 เกี่ยวกับกระบวนการผลิตน้ำมันดิบและการจัดการน้ำจากกระบวนการผลิต โดยแปลงสำรวจดังกล่าวเป็นหนึ่งในแปลงสำรวจของแหล่งน้ำมันดิบวิเชียรบุรี ซึ่งมีพื้นที่ 134 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอได้แก่ อำเภอวิเชียรบุรี และอำเภอศรีเทพ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยพื้นที่ผลิตจำนวน 3 แปลง ได้แก่ แปลงสำรวจหมายเลข SW1 มีบริษัท อีโค่ โอเรียนท์ เอ็นเนอร์ยี่ (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดเป็นผู้รับสัมปทาน และแปลงสำรวจหมายเลข L44/43 และหมายเลข L33/43 มีบริษัท อีโค่โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทาน
เป็นการลงพื้นที่ดูกระบวนการผลิตเพื่อยืนยันตรวจสอบปริมาณการผลิตและระบบขนส่งน้ำมันดิบไปยังโรงกลั่นน้ำมันบางจากว่าไม่มีการลักลอบหรือรั่วไหล แหล่งผลิตวิเชียรบุรีมีปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตได้ 1,400 บาร์เรลต่อวัน จากสถิติการผลิตรวม 16 ล้านบาร์เรล ตลอด 26 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการผลิตสามารถช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศเป็นมูลค่า 35,000 ล้านบาท จ่ายภาษีให้รัฐเป็นค่าภาคหลวงกว่า 2,000 ล้านบาท และเป็นภาษีเงินได้ปิโตรเลียมกว่า 4,700 ล้านบาท
จากการลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเขาค้อ พบว่ากระแสลมของไทยอยู่ในระดับต่ำ กังหันไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลังที่ออกแบบไว้ได้ ผลิตได้เพียง 15% จึงมีความจำเป็นให้ค่ารับซื้อไฟฟ้าในช่วงแรกสูงกว่าจากโรงไฟฟ้าหลักและจะนำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการพิจารณา PDP ฉบับใหม่ ให้เหมาะสมต่อไปบริษัท เขาค้อ วินด์ พาวเวอร์ มีกำลังผลิตไฟฟ้า 60 เมกะวัตต์ มีจำนวนกังหันลม 24 ต้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ย ต้นละ 2.5 เมกะวัตต์ ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากโครงการฯ สามารถจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่โดยรอบและบริเวณโดยรอบโครงการฯ ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่
มนสิชา คล้ายแก้ว