ที่หอประชุมสวนริมเขา อำเภอเมือง จ.สระบุรี นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชนงานปรับแบบรายละเอียดในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ช่วงสระบุรี-นครราชสีมา) โดยมีผู้แทนส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วน พระภิกษุและประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการก่อสร้างเส้นทาง เข้ารับฟังการชี้แจงการ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 57 รัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 -2569 เพื่อร่วมพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย และเส้นทางแก่งคอยท่าเรือมาบตาพุด ระยะทางรวมประมาณ 867 กิโลเมตร โดยให้รัฐบาลจีนมีส่วนร่วมตั้งแต่การเตรียมโครงการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ และดำเนินการก่อสร้างงานโยธา เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟสอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมการลงทุนที่มีความพร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งและเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และในวันที่ 23 มีนาคม 59 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้หารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ที่เมืองไหหนาน ประเทศจีน มีข้อสรุปการลงทุนให้ฝ่ายไทยเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด โดยกำหนดนโยบายเริ่มต้นเส้นทาง กรุงเทพ-นครราชสีมาและส่วนต่อขยายเมื่อมีความพร้อม
ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 10 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้เริ่มต้นก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา เป็นลำดับแรก และในการประชุมครั้งที่ 20/2559 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม59 มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการจ้างและสั่งจ้างบริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดการออกแบบของฝ่ายจีนและออกแบบเพิ่มเติมในส่วนที่ฝ่ายจีนไม่ได้ดำเนินการสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการเวนคืนและการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ช่วงบ้านภาชี-แก่งคอย
สำหรับประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นกิจกรรมที่สำคัญมีความมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ข้อมูลและการดำเนินงาน ที่ฝ่ายจีนเป็นผู้ออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องปรับปรุงจากรูปแบบเดิมจากที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งการจราจร(สนข)ได้ศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมาช่วงบ้านภาชี-นครราชสีมา และไดรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 และเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ในการนำไปออกแบบรายละเอียดประกอบการสสำรวจให้มีความถูกต้อง รัดกุม และมีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับปรุงรูปแบบการพัฒนาโครงการให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ถือเป็นโครงการยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน ระหว่างประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอินโดจีน (กัมพูชา-สปป.ลาว-มาเลเซียและเวียดนาม) รวมทั้งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐอินเดีย
ทั้งยังเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว-จีน โดยยกระดับมาตรฐานรถไฟและส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง เป็นการลงทุน เพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในระยะยาวและสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างศักยภาพและโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว สามารถกระจายความเจริญอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำในภาพรวม โดยเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมของรัฐบาลจีนตามนโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกและผลต่อสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทางรวมทั้งให้คนไทยได้รับความรู้ทางเทคโนโลยีระบบรางของจีนและได้ฝึกทักษะความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง
แนวเส้นทางโครงการ ฯ ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา มีสถานีรถไฟ 6 แห่ง ได้แก่ สถานีบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่องและสถานีนครราชสีมา โดยเป็นทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร เป็นทางยกระดับ 190 กิโลเมตร มีความสูงจากพื้นดินตั้งแต่ 7-22 เมตร และทางระดับพื้น 54.5 กิโลเมตร อุโมงค์ยาว 7.8 กิโลเมตร จำนวน 2 แห่ง คือ บริเวณมวกเหล็ก จ.สระบุรี และบริเวณลำตะคอง จ.นครราชสีมา ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพถึงนครราชสีมา ประมาณ 1.30 ชั่วโมง ช่วงเวลาให้บริการ 06.00-22.00 น. ออกเดินทางทุก 90 นาที อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น107 บาท สูงสุด 534 บาท เฉลี่ยค่าโดยสาร 80 บาท บวก 1.8 บาทต่อกิโลเมตร เปิดให้บริการปี 2566 งบประมาณ 179,000 ล้านบาท
/ภาพข่าว ดำรงค์ ชื่นจินดา ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์5เหล่าทัพสระบุรีรายงาน