ยาเสพติดเป็นปัญหาของประเทศชาติ สังคม ชุมชน การป้องกันและการแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องดำเนินการและเริ่มต้นในทุกระดับ และเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักว่ายาเสพติดเป็นปัญหาที่คนในชุมชนต้องลุกขึ้นมาร่วมแรงร่วมใจแก้ไขร่วมกัน สำนักงาน ปปส.ภาค 6 และ ศูนย์อำนวยการป้องกันปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเพชรบูรณ์ (ศอ.ปส.จ.พช.) จึงได้สร้างกระบวนการของการสร้างทัศนคติของสังคมให้รับรู้ถึงปัญหาความรุนแรงและแนวทางในการแก้ไขปัญหา ทั้งการป้องกัน ปราบปราม และการบำบัด ทั้งนี้โดยการนำงานด้านสื่อสารมาเป็นส่วนของการสร้างการรับรู้ให้แก่สังคม โดยเมื่อวันที่ 23-24 สิงหาคม 2561. ได้มีการสัมมนาบทบาทสื่อมวลชนกับการสร้างความรู้งานด้านยาเสพติดให้กับประชาชน มี นายสมเจตร เปลื้องนุช นายอำเภอศรีเทพ เป็นประธานเปิดงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สื่อมวลชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับรู้นโยบายรัฐบาล ตามแนวทางการขับเคลื่อนแผนประชารัฐร่วมใจ ปลอดภัยเสพติด พ.ศ.2561 ทั้งนี้ สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญ ในการสร้างการรับรู้งานด้านยาเสพติดให้กับประชาชน ให้รับรู้อย่างทั่วถึง และเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มในสังคม โดยมีสื่อมวลชนในพื้นที่จากสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และ สื่อออนไลน์ จาก สมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์ จ.เพชรบูรณ์ สมาคมสื่อมวลชนเพชรบูรณ์ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเพชรบูรณ์ อาสาสสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้านและชุมชน( อปมช.) อาจารย์และนักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์จากสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตเพชรบูรณ์ จำนวน 50 คนเข้าร่วมกิจกรรม ที่โรงแรมนกยูงทอง ตำบลโคกสะอาด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
นายสุเทพ เบียร์ดี ปลัดอำเภอ ผู้แทนศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า การจัดประชุมสัมมนาในครั้งนี้มีการอภิปรายให้ความรู้และแลกเปลี่ยนารป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดเพชรบูรณ์ ด้านการปราบปราม ด้านการบำบัดรักษา ด้านการป้องกัน และลงพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลถ่ายทำรายการ สกู๊ปข่าวและรายงานข่าวเกี่ยวกับกองทุนแม่ของแผ่นดิน กองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิต ชีวิตใหม่ของกระทรวงยุติธรรม และบ้านกึ่งวิถี จังหวัดเพชรบูรณ์ ใน พื้นที่ ตำบลคลองกระจัง อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีนายประจวบ นาคเทียน ประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินภาค 6 กล่าวต้อนรับและนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่พบกลุ่มเป้าหมาย หมู่ 1 ตำบลคลองกระจัง อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 6 เพื่อเป็นทุนสร้างอาชีพแก่ผู้ที่ผ่านการบำบัดมาแล้ว
บ้านคลองกระจัง หมู่ 1 ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นหนึ่งในหมู่บ้านได้รับพระราชทานเงินกองทุนแม่ของแผ่นดินครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2549 จำนวนเงิน 8,000 บาท และครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2553 อีกจำนวน 20,000 บาท รวมทั้งทั้งสิ้น 28,000 บาท ได้รวมใจและร่วมมือต่อยอดการขับเคลื่อนโดยที่ราษฎรบ้านคลองกระจังได้มีการสมทบเงินเข้ากองทุนดังกล่าวจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่นสมาชิกร่วมสมทบ จากการทอดผ้าป่า สมทบจากกองทุนหมู่บ้าน สมทบจากกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต สมทบจากการบริจาค สมทบจากการแลกเงินขวัญถุง สมทบจากบาตรสะเดาะห์เคราะห์ ที่นายประจวบ นาคเทียน กำนัน ต.คลองกระจัง และประธานกองทุนแม่บ้านคลองกระจังได้ใช้กุศลโลบายกับชาวบ้านว่า หากไม่สบายใจหรือมีความทุกข์ใดๆ ให้ลูกบ้านสะเดาะห์เคราะห์ด้วยการทำบุญใส่บาตรเล็กๆที่ถูกนำไปตั้งไว้ใน 258 ครัวเรือน และประชากรทั้งสิ้น 1,062 คน ทำให้มีเงินสะสมเพิ่มเติม ซึ่งในปัจจุบันกองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านคลองกระจังมีเงินสะสมทั้งสิ้น กว่า 2 แสนบาท เงินกองทุนแม่ของแผ่นดินนั้นได้นำไปจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน เช่นช่วยเหลือค่าฌาปนกิจศพสมาชิก มอบเงินช่วยเหลือผู้พิการและผู้ยากไร้ ร่วมกับเยาวชนอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างและพัฒนากลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านจัดตั้งสภาเยาวชนเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมต้านยาเสพติด
นอกจากนี้ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนแม่ยังได้น้อมนำแนวทางปรัชญญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการที่จะนำพาผู้หลงผิดกลับตัวกลับใจเป็นคนดีของสังคม โดยร่วมกับสำนักคุมประพฤติ จังหวัดเพชรบูรณ์จัดโครงการ บ้านกึ่งวิถี คืนคนดีสู่สังคมโดยนำผู้เคยกระทำผิด ซึ่งได้รับการคุมประพฤฒิมาปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต และให้การดูแล ช่วยเหลือ สงเคราะห์ด้านการฝึกอาชีพเสริมจากการใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ในการเพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปในแนวทางการดำเนินชีวิตให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร ซึ่งเป็นการป้องกันการหวนกลับไปสู่เส้นทางอันไม่พึงประสงค์ เพื่อคืนคนดีสู่สังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้คณะสื่อมวลชนที่เข้าร่วมการสัมมนาต่างกล่าวว่า การที่ ปปส.ภาค 6 และ ศอ.ปส.จ.พช จัดกิจกรรมดังกล่าว นับเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของสื่อทำให้เข้าใจในแนวนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมทั้งได้มีโอกาสสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้ที่ผ่านการบำบัด และเห็นถึงการดำเนินการคืนคนดีสู่สังคมตามแนวทางของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสามารถสะท้อนปัญหา และสิ่งที่ดีของโครงการไปสู่สาธารณชนได้ชัดเจนมากขึ้นและคาดหวังว่าโครงการที่มีประโยชน์เช่นนี้ ปปส.ภาค 6 จะหนุนเสริมให้เกิดชึ้นอย่างต่อเนื่องและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆต่อไป
มาสิชา คล้ายแก้ว ภาพข่าว