จ.ลพบุรี จัดงาน“รักแม่ รักษ์แม่น้ำลพบุรี”ครั้งที่ 13 ณ วัดยาง ณ รังสี ต.ตะลุง อ.เมืองลพบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานมาจากจังหวัดลพบุรี ว่า เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ น.
นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วย นางจุรีพร โพธิ์ปภาพันธ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลพบุรี ประธานในพิธีเปิดงาน “รักแม่..รักษ์แม่น้ำลพบุรี” ครั้งที่ ๑๓ เนื่องใน วันแม่แห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๑ ณ วัดยาง ณ รังสี ต้าบลตะลุง อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
โดยการจัดงาน “รักแม่..รักษ์แม่น้ำลพบุรี” ในแต่ละปี มีการจัดงานหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามพื้นที่วัดริมแม่น้ำลพบุรี โดยมีชุมชนท้องถิ่น ท้องที่ วัด และโรงเรียน เป็นพลังในการขับเคลื่อนกิจกรรมในแต่ละปี ภายใต้การสนับสนุนของผู้มีจติ ศรัทธาภาค ประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำท้องถิ่นนั้นๆ รูปแบบการจัดงานในแต่ละปี มีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัย สภาพแวดล้อม และจุดเด่นของวัดริมแม่น้ำ แต่ละแห่ง โดยกำหนดจัดงานในวันเสาร์แรก ของเดือนสิงหาคม ของทุกปี ด้วยเป็นช่วงเวลามหามงคล ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ซึ่งชาวลุ่มแม่น้ำลพบุรี พร้อมร่วมใจถวายพระพร จัดกิจกรรมอนุรักษ์พัฒนาแม่น้ำลพบุรี เฉลมิ พระเกียรติถวาย เป็นพระราชกุศล ด้วยล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ทรงให้ความสำคัญในทรพัยากรป่าไม้ และทรัพยากรน้ำเป็นอย่างยิ่ง ในโอกาสวันแม่ผู้ให้ชีวิต งาน “รักแม่..รักษ์แม่น้ำลพบุรี” ซึ่งเป็นการร่วมกันจัดกิจกรรม เพื่อตระหนักในคุณค่า ความสำคัญของแม่น้ำลพบุรี ผู้ให้ ชีวิต ทั้งเพื่ออุปโภค การเกษตร เป็นแหล่งน้ำของชุมชน โดยในปีนี้กำหนดจัดงาน ณ วัดยาง ณ รังสี ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เรือ พื้นบ้านแห่งแรกของภาคกลาง เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชาวนาที่สำคัญ และที่วัดยาง ณ รังสี ยังมี ต้นยางนาต้นใหญ่ อายุมากกว่า ๓๐๐ ปี ยืนต้นตระหง่านมานานกว่า ๓๐๐ ปี ซึ่ง เมื่อปีที่ผ่านมา ได้รับการประกาศให้เป็น “รุกขมรดกของแผ่นดิน” ใต้ร่มพระบารมีใน รัชกาลที่ ๑๐ อีกด้วย
“รักแม่…รักษ์แม่น้ำลพบุรี” ครั้งที่ ๑๓
มนุษย์ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำลพบุรีมาไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปีแล้ว จากข้อมูลบันทึกต่างๆ ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ระบุว่าแม่น้ำลพบุรีเป็นเส้นทางน้ำเก่าแก่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ น่าจะม่ต้นกำเนิดมาจากแม่น้ำในเขคแดนรอยต่อระหว่างจังหวัดลพบุรี กับจังหวัดเพชรบูรณ์ จนเป็นแหล่งชุมชนที่พัฒนาเป็นบ้านเมืองแล้วเป็นรัฐ เช่น รัฐทวารวดี รัฐละโว้-อโยธยา ก่อนพัฒนาเป็นกรุงศรีอยุธยาในกาลต่อมา ในยุคทวารวดี สายน้ำนี้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับคลองและสายน้ำไปยังเมืองบางไผ่ (อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี) เมืองจันเสน (อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์) เมืองอู่ตะเภา (อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท) ดังจะพบวัดเก่าสมัยอยุธยาเรียงรายตามลำน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้สันนิษฐานไว้ในหนังสือ “ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาสตั้งแต่พระราชวังจันทรเกษมถึงจังหวัดลพบุรี” ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “เส้นทางสายนี้คงเป็นแม่น้ำลพบุรีสายเดิม และพระนางจามเทวีเดินทางจากละโว้ ขึ้นไปครองเมืองหริภุญไชย ผ่านตามเส้นทางน้ำที่ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาแถบหลังอำเภอพยุหะคีรี” (หวน พินธุรักษ์, ๒๕๑๕ อ้างใน โบราณราชธานินทร์, พระยา เรื่องเกี่ยวกับพระนครศรีอยุธยา, ๒๕๐๓)
จากบันทึกการเดินทางของคณะทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชพอจะมีข้อมูลกล่าวถึงการขุดเส้นทางน้ำสายใหม่เชื่อมต่อแม่น้ำลพบุรีกับแม่น้ำจ้พระยาเพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้สั้นลง ซึ่งเป็นแนวเส้นทางน้ำจากบริเวณวัดปากน้ำ ต.บางงา อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ถึงวัดตึก ต.ม่วงหมู่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ซึ่งประมาณว่ามีการดำเนินการในราวปี พ.ศ.๒๒๓๐ โดนต่อมาเส้นทางน้ำสายนี้ได้กลายเป็นแม่น้ำลพบุรีในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ในอดีตแม่น้ำลพบุรีมีความสำคัญในด้านการคมนาคมทางน้ำ ที่จังหวัดลพบุรีมีการใช้ลำน้ำนี้เพื่อติดต่อค้าขายกับกรุงเทพมหานคร โดยมีท่าเรือสำหรับเดินทางไปยังกรุงเทพฯ ที่ท่าน้ำตรงข้ามวัดพรหมาสตร์ นอกจากนี้ชาวบ้านยังใช้เดินทางไปต่างเมือง เช่น สิงห์บุรี และบ้านแพรก แต่ปัจจุบันผู้คนนิยมเดินทางด้วยรถยนต์ การสัญจรทางน้ำในแม่น้ำลพบุรีจึงหายไป
จากการสำรวจสภาพน้ำของแม่น้ำลพบุรีในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ พบว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้ และจากการสำรวจในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ พบว่าแม่น้ำลพบุรีมีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมากร้อยละ ๒๕ และอยู่ในเกณฑ์ดีร้อยละ ๒๕ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันแม่น้ำลพบุรีมีปัญหาโคลนตมและวัชพืชสะสมจนตื้นเขินแม่น้ำลพบุรียังมีความสมบูรณ์อยู่มาก โดยกรมประมงได้มีการปล่อยปลา และกุ้งจำนวนมาก เนื่องในโอกาสพิธีสำคัญต่างๆ
ผู้มีจิตอาสาที่รวมตัวกันเป็น “ชมรมคนรักแม่น้ำลพบุรี” (มีอาจารย์ผ่องศรี ธาราภูมิเป็นแกนนำ) ได้ร่วมกับชมรมจิตอาสาต่างๆ ในลพบุรี (เช่น ชมรมอนุรักษ์โบราณสถาน ชมรมคนรักต้นไม้ ชมรมรักลพบุรี เป็นต้น) และจิตอาสาต่างๆ รวมทั้งหน่วยงาน/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด โรงเรียน กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนชุมชนที่ตั้งอยู่ตลอดแม่น้ำลพบุรี และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในจังหวัดลพบุรี ได้ร่วมกันจัดงาน “รักแม่…รักษ์แม่น้ำลพบุรี” ขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ และเนื่องในวันแม่แห่งชาติ ในปีนี้ (๒๕๖๑) นับเป็นครั้งที่ ๑๓ ซึ่งกำหนดจัดในวันเสาร์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ วัดยาง ณ รังสี ตำบลตะลุง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่เวลา ๐๗.๓๐–๑๒.๐๐ น. โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีเป็นประธาน ในงานได้จัดให้มีการตักบาตรพระทางเรือพระสงฆ์ ๖๗ รูป พิธีเปิดกรวยถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ และพิธีเปิดกรวยเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ มอบเกียรติบัตร “แม่ดี…ศรีชมชน คนลุ่มแม่น้ำลพบุรี” ทอดผ้าป่าสามัคคีทางเรือ สมโภชต้นยางนา “รุกขมรดกแห่งแผ่นดิน” และชมการละเล่นทางน้ำ เป็นต้น
ใจรัก วงศ์ใหญ่ ข่าว/ สมชาย เกตุฉาย ภาพ/ ศูนย์ข่าว 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี