ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังวัดถ้ำเทพบันดาล (หรือ วัดถ้ำลิง) ที่บ้านลำจังหัน หมู่ที่ 1 ต.สามแยก อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ มีนายบัณฑิต ใจดี กำนัน ต.สามแยก เป็นคนนำเดิน หา จุด ฟอสซิล ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ข้าวสารหิน
ซึ่งอยู่ในบริเวณวัดเทพบันดาล ลักษณะโดยรอบปกคุมต้นไม้ ทางขึ้นอยู่ด้านข้างวิหารเทพนิมิตร (หลังเดิม) ซึ่งเป็นภูเขาหินปูน ที่มีซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเลเซลล์เดียวที่มีชื่อว่า “ฟิวซูลินิด (Fusulinids)” พบอยู่ในเนื้อหินปูน มีลักษณะยาว หัวท้ายแหลม รูปร่างและขนาดคล้ายเม็ดข้าวสาร จึงทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเมล็ดข้าวสารกลายเป็นหิน จึงมีชื่อเรียกทั่วไปว่า “คตข้าวสาร หรือข้าวสารหิน”
ฟิวซูลินิด (Fusulinids) เป็นสัตว์ทะเลเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึกในอดีต สมัย 240-280 ล้านปี เป็นสิ่งมีชีวิตที่พบมากในยุคคาร์บอนิเฟอรัส และเพอร์เมียน และได้สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ปลายยุคเพอร์เมียน
คตข้าวสาร แบบนี้ ยังสามารถพบได้อีกหลายแห่ง ใน จ.เพชรบูรณ์ ที่เป็นภูเขาและถ้ำหินปูนโบราณ เช่น ถ้ำใหญ่น้ำหนาว และบ้านยางจ่า ต.ภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี
ประโยชน์และการอนุรักษ์ “ฟิวซูลินิด (Fusulinids)” เป็นสัตว์ทะเลที่มีช่วงอายุสั้นมาก แต่ละสกุลจะมีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่กำเนิดขึ้นในโลกจนถึงสูญพันธุ์ มีการแพร่พันธุ์เร็ว และกระจายแพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งโครงสร้างภายในยังมีความแตกต่างกันตามลำดับวิวัฒนาการ ทำให้สามารถจำแนกรายละเอียดความแตกต่างของสกุลและชนิดได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงมีความเหมาะสมสำหรับเป็นตัวกำหนดอายุของหินที่มีซากฟิวซูลินิดสะสม เพราะสามารถกำหนดระยะเวลาได้เป็นช่วงแคบๆ ทำให้การเทียบสัมพันธ์ชั้นหินช่วงเวลาเดียวกันมีความถูกต้อง แม่นยำ อันเป็นประโยชน์อย่างมากมายด้านวิชาการ
ในเบื้องต้น ทางด้านสภาวัฒนธรรมตำบลสามแยก กำลังดำเนินการจัดทำป้ายประกาศเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติทางธรณีวิทยา
ด้าน ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ อยากให้คงสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์ไว้แบบนี้ โดยอยากให้ทางวัด และชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันอนุรักษ์ ดูแล รักษา เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยา แก่ผู้ที่สนใจ
และทางวัดเทพบันดาลยังมีการนำหินปูนที่มีคตข้าวสารนี้ ไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ทำให้สามารถเห็นตัวซากดึกดำบรรพ์คตข้าวสารในเนื้อพระพุทธรูปได้อย่างชัดเจน และสวยงาม
นอกจากจะมีซากดึกดำบรรพ์ หลายร้อยทางธรรมชาติให้ได้ดู ได้ศึกษากันแล้ว สังเกตได้ว่าทางเข้าวัดก็จะได้พบกับฝูงลิงนับร้อย หลายสายพันธุ์ ที่ได้อาศัยอยู่ ณ ที่วัดแห่งนี้ ซึ่งในแต่ละวันก็จะมีชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียง นำอาหาร พวกพืชผักผลไม้ กล้วย แตงโม มะม่วงสุก ต่างๆ ตามฤดูกาล มาวางให้กับฝูงลิงเหล่านี้ เป็นประจำอีกด้วย
ด้านการเดินทางมาก็สะดวก รถยนต์สามารถขับเข้าไปจอดภายในวัดได้เลย
รุ่งทิพย์ บุญบำรุง/มนสิชา คล้ายแก้ว ผู้สื่อข่าวจังหวัดเพชรบูรณ์