นักวิทยาศาสตร์จีนตัดต่อ ‘ดีเอ็นเอมนุษย์’ สำเร็จเป็นครั้งแรก แต่ตะวันตกค้านหนักผิดจริยธรรม
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ – แวดวงวิทยาศาสตร์แดนมังกรปรบมือชี่นชมความสำเร็จของเพื่อนร่วมวงการ ที่สามารถ
ตัดต่อ‘ดีเอ็นเอ’ ในเอ็มบริโอมนุษย์ได้สำเร็จ สวนทางโลกตะวันตกที่ออกมาโต้แย้งด้วยเหตุผลทางจริยธรรม
คณะผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาของมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็นแห่งนครกวางเจา นำโดยรองศาสตราจารย์หวง จวินจิว
ได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาตัดแยกยีน (gene) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคเบต้า ธาลัสซีเมีย (beta thalassemia)
หรือโรคเลือดจางซึ่งมีความร้ายแรงถึงแก่ชีวิต และปรากฏบ่อยครั้งในกลุ่มเด็กจีนตอนใต้
แต่ความก้าวหน้าดังกล่าวกลับปลุกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ โดยเดิมทีงานวิจัยถูกเสนอต่อวารสารธรรมชาติและวิทยาศาสตร์
(Nature and Science) ในฐานะการศึกษาการตัดต่อพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอในเอ็มบริโอมนุษย์ ทว่าถูกปัดตกด้วยเหตุผล
คัดค้านด้านจริยธรรม
นักชีววิทยาชาวอังกฤษ เอ็ดเวิร์ด แลนเฟียร์ ท้วงติงว่า “เราจำเป็นต้องหยุดการวิจัยเช่นนี้ซะ และสร้างความมั่นใจ
ด้วยการอภิปรายบนฐานวงกว้างเกี่ยวกับทิศทางที่เราจะเดินต่อไป”
ต่อมาผู้ทำวิจัยกล่าวในวารสารโปรตีนและเซลล์ (Protein & Cell) ว่าพวกเขาตระหนักถึงข้อถกเถียงซึ่งอาจเกิดขึ้น
กับการศึกษาลักษณะนี้ดี โดยชี้แจงว่าได้ใช้เอ็มบริโอที่ไม่มีชีวิตรอดและถูกละทิ้งจากโรงพยาบาล หรือไข่ที่ปฏิสนธิ
ด้วยอสุจิหลายตัวซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างใช้ในห้องแล็ปมานานหลายทศวรรษ เนื่องจากไม่สามารถนำไปสู่
การเกิดมีชีพ (live birth) ได้
อย่างไรก็ดี รองศาสตราจารย์หวงยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างแรงกล้าจากเพื่อนนักชีววิทยาภายในประเทศ
โดยเฉิน กั๋วเฉียง ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชิงหวา กล่าวว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ช่างไร้เหตุผล ถ้าต้องทำ
ตามที่พวกเขาบอกก็ไม่มีงานวิจัยไหนควรทำออกมาหรอก
“สุดท้ายความสำเร็จนี้จะเป็นประโยชน์กับเราทุกคน การตัดต่อดีเอ็นเอมนุษย์ถือเป็นกุญแจสำคัญสู่การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
ดำรงสุขภาพดี คงความเยาว์วัย มีชีวิตยืนยาว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นไปได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยปลดปล่อยหลายครอบครัว
พ้นจากความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน”
เจ้า ซือหมิน จากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นแห่งนครเซี่ยงไฮ้ เสริมว่า “การทดลองทำกับเอ็มบริโอที่เจริญเติบโตไม่ได้แล้วเท่านั้น
งานวิจัยจึงอยู่ไกลแสนไกลจากการใช้งานทางคลินิกหรือเชิงพาณิชย์ ไม่ได้เป็นปัญหาด้านจริยธรรมใดๆ ทั้งสิ้น”
“การตัดต่อดีเอ็นเอเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราใช้เทคโนโลยีนี้กับพืชและสัตว์แล้ว ย่างก้าวต่อไปคือมนุษย์” แต่เจ้า
ก็เตือนว่าการเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางพันธุกรรมนั้นมีขอบเขตจำกัดและความเสี่ยงเหมือนกับเทคโนโลยีอื่นๆ
“ผลลัพธ์อาจสร้างปัญหาที่คาดไม่ถึงซึ่งส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เวลาเดียวกันก็ก่อเกิดความบกพร่องหรือโรคแทรกซ้อนอื่น
ตามมาด้วย” เจ้ากล่าว “แม้การศึกษาทำนองนี้ควรได้รับอนุญาต แต่ก็ต้องเก็บรักษาไว้ในห้องแล็ปอย่างเข้มงวด
เพราะการใช้งานอย่างไร้การควบคุมอาจนำไปสู่การสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ของมวลมนุษยชาติได้”
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์จีนประสบผลสำเร็จในการตัดต่อดีเอ็นเอของเอ็มบริโอ 28 ชิ้น หรือราวร้อยละ 30 จากเอ็มบริโอ
ทั้งหมด 86 ชิ้น ที่นำมาใช้วิจัย ซึ่งหวงและเพื่อนร่วมทีมระบุว่าผลการศึกษายังปรากฏปัญหาในส่วนการรักษายีน
อีกทั้งหลายประเด็นควรถูกสืบสวนอย่างละเอียดก่อนประยุกต์ใช้จริงทางการแพทย์
ความขัดแย้งของการวิจัยเอ็มบริโอมนุษย์นั้นเกิดขึ้นแล้วหลายครั้งในอดีต เช่นเมื่อสิบปีก่อนที่นักวิทยาศาสตร์เกาหลีใต้
เปิดเผยการโคลนนิ่งเอ็มบริโอจนเรียกเสียงฮือฮาเป็นชาติฮีโร่ แต่สุดท้ายก็ตรวจพบว่าเป็นเรื่องโกหกพกลมทั้งเพ
อนึ่ง นักวิทยาศาสตร์เอเชียมักได้รับเสรีภาพในการศึกษาและทดลองเอ็มบริโอของมนุษย์มากกว่าชาติตะวันตก
เนื่องจากการยอมรับของสาธารณะชนและเสียงคัดค้านด้วยเหตุผลทางศาสนาที่เบาบางกว่า