เมื่อเวลา 17.15 น. วันที่ 25 มิถุนายน 2561 ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมหารือกับตัวแทนพรรคการเมืองในที่ประชุม ซึ่งได้ชี้แจงปัญหาและแนวทางในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปว่า จะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 ข้อ คือ 1.ความสงบเรียบร้อยในการจัดพระราชพิธีราชาภิเษก 2.กฎหมายเลือกตั้ง สส.และสว.จะโปรดเกล้าฯลงมาและประกาศใช้เมื่อใด 3.การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต.ชุดใหม่ 4.การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นเมื่อใด และต้องไม่ซ้ำกับการเลือกตั้งระดับชาติ 5.ความสงบเรียบร้อยทั่วไปของประเทศ
อย่างไรก็ตาม คสช.ได้ชี้แจงช่วงเวลาในการจัดการเลือกตั้งช่วง 3 เดือน 3 เดือน และ 5 เดือน หรือ 11 เดือน โดยจะเกิดขึ้นภายหลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และ สว. โปรดเกล้าฯลงมา หรือประกาศใช้แล้ว กล่าว คือ ในช่วง 3 เดือนแรก หรือ 90 วัน เป็นช่วงเวลาที่ได้นำกฎหมายการเลือกตั้งทูลเกล้าฯ เมื่อช่วงวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเวลาหลังจากนี้ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ และช่วง 3 เดือนหรือ 90 วันในช่วงเวลาที่ 2 เป็นช่วงเวลาที่กฎหมายประกาศใช้แล้ว และ ช่วงเวลาที่ 3 หรือ 5 เดือน หรือ 150 วัน ในกาจัดการเลือกตั้ง ส่งผลให้เกิดข้อกังขาจากตัวแทนพรรคการเมืองว่า เหตุใดต้องมีช่วงเวลา 90 วัน ในช่วงระยะเวลาที่ 2 ด้วย เพราะจะทำให้การเลือกตั้งล่าช้าลง
ทาง คสช.จึงอยากชี้แจงว่า เป็นช่วงเวลาในการแบ่งเขตเลือกตั้งและการจัดทำไพรมารี่โหวต เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวอาจแบ่งกิจกรรมที่จะต้องดำเนินการ คือ กกต.จะต้องดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และต้องดำเนินการจัดทำไพรมารี่โหวตให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน จากนั้นจะเหลือเวลา 150 ในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งหากไม่มีช่วงเวลา 90 วัน ในช่วงเวลาดังกล่าว จะไปกระทบหรือกินเวลาช่วงเวลาในการจัดการเลือกตั้ง 150 วัน จะทำให้พรรคการเมืองมีเวลาในการหาเสียงเลือกตั้งน้อยลง “จากการประเมินหากเป็นไปตามแนวทางหรือกรอบระยะเวลาที่กล่าวถึงอาจจะจัดการเลือกตั้งได้น่าจะอาทิตย์สุดท้ายของเดือนโดยเลือกวันอาทิตย์เป็นตัวตั้ง กำหนดคร่าวๆได้ดังนี้ 24 ก.พ.62 , 30 มี.ค. 62 , 28 เม.ย.62 และ 5 พ.ค. 62 ซึ่งไม่อาจจะกำหนดลงไปได้ว่าจะเป็นช่วงวันเวลาใดขึ้นอยู่กับ กกต.ชุดใหม่มาเป็นผู้กำหนดไม่ใช่ คสช.กำหนด”นายวิษณุ กล่าว
อย่างไรก็ตามผู้แทนพรรคการเมืองได้นำเสนอ 4 ปัญหาใหญ่ ที่ต้องการให้ คสช.รับทราบและดำเนินการแก้ไข โดย คสช.จะนำไปพิจารณา อาทิ การประชุมใหญ่พรรคการเมืองเพื่อรับสมาชิก หรือ ไพรมารี่โหวต เบื้องต้นแนวทางแก้ไข คือ หากพรรคใดจะเรียกประชุมขอให้มาขออนุญาต คสช.เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมามีพรรคการเมืองมาขออนุญาต โดย คสช.ได้อนุญาตไปแล้ว 40 เรื่อง จากเสนอเข้ามา 60 เรื่อง ขณะที่ 4 ปัญหาใหญ่ที่บรรดาพรรคการเมืองนำเสนอนั้น เรื่องการประชุมใหญ่พรรคการเมืองในการรับสมาชิก หรือไพรมารี่โหวตจะดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่ คสช.ชี้แจงไปตามสูตร 3 – 3 – 5 ดังนั้นการปลดล็อกกิจกรรมทางการเมืองจะอยู่ในช่วงเดือน ก.ย. ถึง ธ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่การดำเนินการของ กกต.ในการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการแบ่งเขตเลือกตั้ง
ขณะที่ปัญหาไพรมารี่โหวต คสช.เห็นว่าไม่ต้องมีหัวหน้าสาขา ดังนั้นการทำไพรมารี่โหวต จึงไม่ต้องมีหัวหน้าสาขา 3.การแบ่งเขตเลือกตั้งจะเสนอ กกต.ให้ดำเนินการในช่วงเวลา 90 วันช่วงที่สอง โดยให้ กกต.แบ่งเขตไปพลางก่อนพร้อมกับหารือพรรคการเมืองด้วย และ 4. มีข้อเสนอแนะให้มีทางเลือกอื่นๆ เช่น ไพรมารี่โหวตระดับเขตมาเป็นไพรมารี่โหวตระดับภาคแทน เพราะ กกต.แบ่งเป็น 4 ภาคอยู่แล้ว อาทิ เหนือ กลาง ใต้ และ ตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อไม่ต้องตั้งกรรมการไพรมารี่โหวตนับร้อยๆคน หรือ เสนอให้ยกเลิกไพรมารี่โหวตไปเลย หรือเสนอให้เลื่อนระบบไพรมารี่ไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปแทน อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวจะนำไปหารือ คสช. กกต. กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะนำไปพิจารณาต่อไป