เมือวันที่ 21 มิ.ย.61 “ดร.อฤเดช”กล่าวย้ำ เพาะงามเมล็ดดกแม้ว่าอากาศร้อน ให้การต้อนรับ ผศ.ดร.อานนท์ แสนน่าน ผอ.มหาวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นไทย ที่ได้นำกลุ่มเกษตรกรไปเยี่ยมชมการ “เพาะต้นกล้ากาแฟบ้านเชียง สายพันธ์ 1” หรือ “กาแฟบ้านเชียง 1” ณ สวนไร่กาแฟบ้านเชียง บ้านท่าช่วง ต.ทุ่งฝน อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี
ทางด้าน รศ.ดร.อฤเดช แพงอะมะ ประธานกรรมการ บริษัท กาแฟบ้านเชียง จำกัด ได้กล่าวว่า เราอาจจะหลงใหลไปกับรสชาติของกาแฟและวิธีการมากมายที่ใช้ในการชง ขั้นตอนในการคั่วบดที่แสนพิถีพิถันด้วยกลเม็ดเคล็ดลับที่ต้องใช้ประสบการณ์และศิลปะในการสรรค์สร้างให้เกิดความลงตัวในรสและกลิ่น จนได้ออกมาเป็นกาแฟสดรสอร่อยหลากหลายชนิด และเรามักจะได้ยินกระบวนการผลิตให้ได้มาซึ่งกาแฟตั้งแต่ในส่วนของการเก็บเกี่ยวเมล็ด แต่แทบจะไม่ค่อยมีใครรู้จักวิธีในการปลูก โดยเฉพาะแบบดั้งเดิมซึ่งใช้การเพาะเมล็ดลงหลุม เพื่อให้ได้กล้ากาแฟสำหรับนำไปเพาะชำให้เติบโตต่อไป
รศ.ดร.อฤเดช กล่าวอีกว่า สายพันธุ์ของกาแฟที่นิยมนำมาใช้ในการเพาะพันธุ์ การปลูกกาแฟโดยทั่วไป จะนิยมใช้อาราบิก้า กาแฟรสชาติเยี่ยม นุ่มละมุนและมีกลิ่นหอม และอีกชนิดหนึ่งคือสายพันธุ์โรบัสต้าที่ได้รับความสนใจไม่ต่างกัน แต่ด้วยรสชาติทุกคนต่างก็ต้องยกให้อาราบิก้าเป็นตัวเอก ซึ่งทั่วโลกจะมีการนำเอากล้าของกาแฟทั้งสองสายพันธุ์นี้ไปใช้ปลูกตามความเหมาะสมของพื้นที่
การเติบโตของสายพันธุ์อาราบิก้าที่มีคุณภาพสูงในด้านของกลิ่นและรสชาติ การปลูกและดูแลยุ่งยากทำให้มันเป็นกาแฟที่มีราคาสูง เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีและสามารถเติบโตได้ไว้ จึงนิยมปลูกบนที่สูง เช่นบนดอยที่มีระดับความสูงกว่าน้ำทะเล อากาศเย็นตลอดทั้งปี จะช่วยให้อาราบิก้าเติบโตได้อย่างสมบูรณ์แบบ ส่วนโรบัสต้าเป็นสายพันธุ์ที่เรียกได้ว่ามีรสชาติด้อยลงมาจากอาราบิก้า แต่ก็ยังจัดอยู่ในรสชาติที่ผู้คนนิยม มีความแข็งของรสและกลิ่นมากกว่า เหมาะกับคนที่ชอบความขมเข้มเป็นพิเศษ การเพาะปลูกทำได้ง่าย สามารถเติบโตได้เกือบทุกสภาพอากาศ ให้ผลผลิตในปริมาณมาก จึงทำให้มันไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง ราคาของเมล็ดที่ได้มาจึงถูกลงตามไปด้วย
ประธานกรรมการ บริษัท กาแฟบ้านเชียง จำกัด กล่าวย้ำอีกว่า หลักการเพาะเมล็ดกาแฟอย่างถูกวิธี ตามสูตรเด็ดที่ช่วยให้การเพาะเมล็ดกาแฟได้คุณภาพ การขยายพันธุ์ยังคงใช้สูตรดั้งเดิมด้วยการเพาะเมล็ดลงในปากหลุม โดยแต่หลุมจะมีการหย่อนเมล็ดลงไปประมาณ 20 เม็ด โดยเม็ดไหนที่ไม่มีคุณภาพก็จะถูกชะล้างออกไปเองเมื่อเริ่มเข้าสู่หน้าฝน เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนเมล็ดที่ถูกหย่อนลงไปเท่านั้นที่เหลืออยู่ และสามารถเติบโตขึ้นมากลายเป็นต้นอ่อนได้ และเพื่อเป็นการป้องกันศัตรูพืชมาทำลาย จะต้องปลูกในโรงเพาะชำ ทำการปรุงดินให้ได้คุณภาพ ให้น้ำและกำจัดเหล่าวิชพืชต่างๆ ที่ขึ้นมาแย่งอาหาร โดยเฉพาะบางครั้งสำหรับการเพาะชำในถุง ควรดูแลเป็นพิเศษ การรดน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและเย็นไม่ให้ขาด กล้ากาแฟก็จะค่อยๆ เติบโตขึ้นมาโดยไม่ผ่านการรบกวน ก่อนจะถูกนำออกสู่การปลูกในแปลงใหญ่ให้กลายเป็นต้นกาแฟที่มีคุณภาพ ซึ่งก็จะต้องใช้วิธีการดูแลอย่างสม่ำเสมอไม่แพ้กับการเพาะเมล็ด ต้นกล้าเหล่านี้ที่ได้จากการเพาะพันธุ์ด้วยเมล็ด จะถูกนำเอาไปใช้งานโยการปลูกจากชาวสวนที่มีความรู้ มีการดูแลตัดตกแต่งกิ่งให้สวยงาม พร้อมกับการป้องกันวัชพืช เติมปุ๋ยให้เพียงพอ และป้องกันเหล่าแมลงศัตรูพืชที่จะเข้ามากัดกิน ซึ่งจะเห็นได้ว่าก่อนที่เราจะได้เมล็ดกาแฟมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกอย่างต้องผ่านการใส่ใจตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งหยดสุดท้ายของกาแฟที่ถูกกลั่นออกมาจากเครื่อง
“…เป็นความเชื่อมโยงที่จะบอกเล่าถึงรสชาติของกาแฟแต่ละสายพันธุ์ได้ว่ามีคุณภาพในการเพาะปลูกอยู่ในระดับไหน เพราะแม้จะเป็นพันธุ์เดียวกัน แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ซับซ้อน ก็สามารถทำให้เมล็ดกาแฟที่ได้ออกมานั้นมีรสและกลิ่นที่แตกต่างกันได้เช่นเดียวกัน อุดรธานีเป็นจังหวัดอยู่ในภาคอีสาน ก็สามารถเพาะปลูกกาแฟได้เป็นอย่างดี…”
ดร.อานนท์ แสนน่าน ภาพ
ทศพร ก้อนแก้ว ข่าว/รายงาน