ที่ห้องลักษมี รร.บูรพา อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ นายวรพจน์ แววสิงห์งาม รอง ผวจ.เพชรบูรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี กิจกรรมการพัฒนากองทุนชุมชน หนุนเสริมการท่องเที่ยว มี นาย ทวีสันต์ สุขเจริญ หน.กลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน กล่าวรายงานว่า จังหวัดเพชรบูรณ์รับจัดสรรงบประมาณในการดำเนินโครงการและบริหารงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2561 โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี
กิจกรรมพัฒนากองทุนชุมชนหนุนเสริมการท่องเที่ยวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี พัฒนาคณะทำงานผู้นำชุมชนผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้มแข็ง เตรียมความพร้อมคณะทำงานสู่การเป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และสร้างความเข้มแข็งก่อให้เกิดความร่วมมือและความสามัคคีในชุมชนและกรรมการ โดยกำหนดประชุม 2 รุ่น เป้าหมายผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 620 คน ดำเนินการพร้อมกันทั้ง 2 รุ่น กลุ่มเป้าหมายประกอบกำนันผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน อาสาพัฒนาชุมชนคณะกรรมการพัฒนาสตรีหมู่บ้านและประธานกองทุนชุมชน โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้เข้าร่วมการประชุมจากอำเภอหล่มสัก 100 คน อำเภอหล่มเก่า 60 คน อำเภอเขาค้อ 20 คน อำเภอน้ำหนาว 60 คนรวมทั้งสิ้น 240 คน
ด้าน นายวรพจน์ แววสิงห์งาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้กล่าวว่า โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนภารกิจ ภายใต้โครงการ ไทยนิยมยั่งยืน เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง ยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชนการ สร้างตลาดใหม่และการเชื่อมโยง OTOP เข้ากับการท่องเที่ยวชุมชน โดยมีเนื้อหาในการพัฒนาสินค้าและบริการ 5 ด้านประกอบด้วย ด้านการบริหาร โดยใช้กลไกคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จังหวัดและอำเภอ ด้านพัฒนาผู้ผลิตผู้ประกอบการ ด้านสถานที่ ด้านพัฒนาการของใช้ของที่ระลึกจะต้องนำวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาผลิตบรรจุภัณฑ์ แข็งแรงดีและมีความสวยงาม และด้านอาหารโดยเน้นความสะอาดและถูกสุขอนามัย มีคุณภาพและมาตรฐาน
ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนทำงานแบบบูรณาการร่วมกันภายใต้กลไกประชารัฐ หรือมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพมาตรฐานสะอาดและปลอดภัยเพื่อเป็นการเชื่อมโยงสินค้า OTOP และแหล่งท่องเที่ยวเข้าไว้ด้วยกัน โดยตั้งเป้าหมายเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการช่วยเหลือผู้ผลิตสินค้า OTOP ในการพัฒนาสินค้าตามภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ซึ่งจะลดต้นทุนการผลิต และส่งเสริมการตลาดแก่ผู้ผลิต นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อคนมีความสุขในบ้านของตนเอง ตลอดจนเป็นการสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป
https://drive.google.com/file/d/170Dgd2FhWCuAb6gY48ms4ySkWTfOfwYs/view?usp=sharing
มนสิชา คล้ายแก้ว/ วิริทธิ์พล หิรัญรัตน์ ผู้สื่อข่าวจังหวัดเพชรบูรณ์