อุบัติเหตุทางอากาศครั้งร้ายแรง ที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินรบที่ได้ชื่อว่า ทันสมัยที่สุดในกองทัพอากาศไทย….
4 กุมภาพันธ์ 2554 เครื่องบินขับไล่โจมตี F16 ADF หนึ่งฝูงบินจำนวนสี่ลำ ซึ่งเป็นเครื่องขับไล่ของฝูงบิน 102 กองบิน 1
กองบัญชาการยุทธการทางอากาศ ได้ขึ้นทำการบินเพื่อการฝึกผสมร่วม Cobra Gold กับกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา
ในระหว่างการบินเกาะหมู่อยู่เหนือพื้นที่ป่าโปร่งของจังหวัดชัยภูมิเกิดสภาพอากาศปิดกระทันหัน เนื่องจากสภาพอากาศ
ที่มีหมอกลงจัดตามหุบเขา เครื่องบิน F-16 สองในสี่ลำหายไปจากจอเรดาร์ โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด หลังจากนั้นหน่วย
กู้ภัยและเจ้าหน้าที่นิรภัยการบินได้ตรวจพบตำแหน่งที่เครื่องบินรบทั้งสองลำตกกระแทกพื้น พร้อมกับพบนักบินทั้งคู่อยู่ใน
บริเวณใกล้กับจุดที่เครื่องตก โดยนักบินทั้งสองนายไม่สามารถควบคุมเครื่องบินให้บินต่อไปได้และตัดสินใจสละเครื่องดีด
ตัวออกจากเครื่อง จนลงสู่พื้นอย่างปลอดภัยทั้งสองนาย
บริเวณที่พบซากเครื่อง F16 ลำแรกอยู่ในพื้นที่บ้านวังโพน อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ
20 กิโลเมตร สภาพเครื่องแหลกยับทั้งลำรวมถึงมีเพลิงไหม้อยู่ตลอดเวลาเมื่อเจ้าหน้าที่กู้ภัยเดินทางไปถึง ใกล้ที่เกิดเหตุ
ยังพบฝาครอบห้องนักบินตกอยู่ไม่ไกลจากซากเครื่องมากนัก ส่วนเครื่องบิน F16 อีกลำตกห่างจากลำแรกประมาณ
4-5 กิโลเมตร อยู่ในสภาพแหลกยับเช่นกัน นักบินทั้งสองนายคือ นาวาอากาศตรี กฤษฎา สุขจันทร์ และ
เรืออากาศเอก ชัชชานนท์ พรหมเดช ใช้เก้าอี้ดีดตัวช่วยชีวิตของ Mcdonnell Douglas รุ่น ACES II ที่มีติดตั้งอยู่ในอากาศ
ยานรบชั้นนำของกองทัพสหรัฐ อาทิ เอฟ-15 ซี/ดี/อี อีเกิ้ล, เอฟ-16 ซี/ดี/อี/เอฟ ไฟท์ต้ิงฟอลคอน และ เอฟ-22 เอ แร็พเตอร์
ดีดตัวออกจากเครื่องบินขับไล่สกัดกั้น F-16 ADF
ประเด็นการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่นิรภัยการบินของกองทัพอากาศ โดยเร็วเกิน
ไปที่จะสรุปได้ว่า อะไร คือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เครื่องบินรบที่มีความทันสมัยที่สุดของ ทอ.ไทย
(ขณะที่ยังไม่ได้รับเครื่องกริพเพน)และเครื่องบินที่เกิดอุบัติเหตุยังมีอายุการใช้งาน หรือ ชั่วโมงบินไม่มากนัก แต่เกิดอุบัติเหตุ
ตกพร้อมกันถึงสองลำในช่วงเวลาและในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน กรณีเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน หรือ ระบบควบคุมการบินล้มเหลว
(เครื่อง F16 บินด้วยระบบสมองกลอิเล็คทรอนิกส์ทั้งหมด หรือ Fly By Wire) ก็ไม่น่าที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆกันทั้งสองลำในเวลา
เดียวกัน ขณะที่ปัจจัยในเรื่องของสภาพอากาศก็อาจเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
จากการได้รับรายงานว่า ในบริเวณบ้านวังโพนที่เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวเป็นป่าโปร่งสลับภูเขา ในช่วงปลายฤดูหนาวจะมี
กลุ่มหมอกขาวปกคลุม ซึ่งในวันที่เครื่อง F-16 ของฝูงบิน 102 กองบิน 1 ขึ้นบินก็ได้รับแจ้งสภาพอากาศในบริเวณดังกล่าวว่า
มีกลุ่มเมฆหมอกปกคลุมหนาทึบ จากลักษณะของอากาศที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่า บริเวณบ้านคลองโพนจังหวัดชัยภูมิ
ช่วงสายของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 มีอุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียส ลม 050/3.7 กม./ชม. มีเมฆเต็มท้องฟ้า ความชื้นสัมพัทธ์ 66%
ความกดอากาศ 1015.8 hPa และมีทัศนวิสัยในการมองเห็นระยะไกลเพียงแค่ 4-6 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งในบริเวณหุบเขาที่
เครื่องบิน F16 ทำการบินเกาะหมู่จำนวน 4 ลำ เมฆหมอกที่พัดปกคลุมอาจก่อปัญหาร้ายแรงจากการมองเห็นจนทำให้เกิด
การเฉี่ยวชนก็อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เมื่อบินด้วยความเร็วสูงในลักษณะเกาะหมู่บินไปพร้อมๆกัน หรือในประเดนสุดท้าย
อาจเกิดจากสภาพลมหมุนวนที่เกิดขึ้นจากเครื่องบินลำที่บินนำหน้า อากาศบริเวณท้ายเครื่องจะมีความผันแปรสูงมาก
เครื่องบินที่บินเกาะหมู่ตามมาในระยะใกล้ อาจเกิดอาการเสียการทรงตัวถึงขั้นเฉี่ยวชนกันกลางอากาศได้ ซึ่งก็ยากที่จะทำ
การคาดเดา และทำได้แต่เพียงรอผลสรุปการพิสูจน์ทราบสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุในครั้งนี้จากทางกองทัพอากาศต่อไป
ที่มาที่ไปของเครื่องบิน เอฟ-16 กองทัพอากาศไทย ได้เริ่มขึ้นจากโครงการจัดหาเครื่องบินแบบใหม่ เพื่อทดแทนเครื่องบินรบ
แบบเก่า (F-5) จำนวน 1 ฝูงบิน โดยมีบริษัทที่เสนอแบบแผนอากาศยานขับไล่-โจมตีทุกกาลอากาศ ให้พิจารณา 2 แบบ
คือ F-16 A/B Block 15 OCU ของบริษัทเจเนอรัล ไดนามิกส์ ที่ปัจจุบันคือ ล็อคฮีท และ F-20 ไทเกอร์ชาร์ค ของ
บริษัทนอร์ทรอป ที่กลายมาเป็น นอร์ทรอป กรัมแมน โดยกองทัพอากาศได้เลือกแบบผู้ชนะเป็น F-16A/B Block 15 OCU
แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ขณะนั้น ต้องการให้ไทยจัดหา F-16/79 ที่เป็นเอฟ-16 รุ่นส่งออกที่ลดทอนประสิทธิภาพ และกำลัง
เครื่องยนต์ตามนโยบายในการขายอาวุธให้กับมิตรประเทศ
รัฐบาลไทยจึงอ้างถึงความจำเป็น ในการที่จะต้องมีเครื่องบินที่ทันสมัยไว้ป้องกันน่านฟ้าของตนเอง กับการวางกำลังของ
เครื่องบินขับไล่ MiG-23 ในเวียดนาม (ในขณะนั้น) จึงยืนยันความต้องการจัดหา F-16 A/B Block 15OCU ต่อรัฐบาลสหรัฐ
ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตที่มองว่า F-16A/B จะมีอนาคตมากกว่า F-16/79 ที่แม้แต่ประเทศผู้ผลิตก็ยังไม่จัดหา
เข้าประจำการหลังจากการกดดันอย่างหนักจากทั้งบริษัทผู้ผลิต และรัฐบาลไทยในที่สุดรัฐบาลสหรัฐก็อนุมัติขาย
F-16A/B Block 15 OCU ให้กับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2528
กองทัพอากาศไทย ได้ทำการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ที่ได้ชื่อว่าทันสมัยที่สุดในยุคนั้นแล้วนำเข้าไปประจำการ
อยู่ในฝูงบินต่างๆคือ
-จัดหา F-16A Block 15 OCU จำนวน 8 ลำ และ F-16B Block 15 OCU จำนวน 4 ลำในปี 2528 ได้รับมอบเครื่องบิน
เข้าประจำการในปี 2531 ปัจจุบันประจำการอยู่ที่ฝูงบิน 103 กองบิน 1 โคราช
-จัดหา F-16 เพิ่มเติมอีก 6 ลำ เป็น F-16A Block 15OCU ทั้งหมดได้รับมอบเครื่องบินเข้าประจำการในปี 2534
ปัจจุบันประจำการอยู่ที่ฝูงบิน 103 กองบิน 1 โคราช
-ช่วงปี 2537 กองทัพอากาศไทยทำการประชุมและพิจารณาเครื่องบินขับไล่โจมตีฝูงใหม่ โดยมีตัวเลือกคือF-16A/B Block 15OCU, A-10, และ F-7M ซึ่งทางทอ.ได้เลือก 16A/B Block15 OCU เช่นเดิม โดยเป็น F-16A Block 15 OCU จำนวน 12 ลำ และ F-16B Block15 OCU จำนวน 6 ลำ เครื่องบินรบ F-16 ฝูงนี้ได้รับการออกแบบให้ทำภารกิจขับไล่โจมตีในเวลากลางคืนโดยเฉพาะ ตัวเครื่องติดตั้งกระเปาะช่วยเดินอากาศยามค่ำคืนหรือ Navigation Pod แบบ Rubis และกระเปาะชี้เป้า Targeting Pod ATLIS II โดยในรุ่นสองที่นั่ง หรือ รุ่น F16 B ห้องนักบินด้านหลังถูกปรับปรุงเป็นที่นั่งของนายทหารอาวุธ Weapon SystemOfficer ทำหน้าที่โปรแกรม และสั่งงานระบบอาวุธและเรดาร์ในการโจมตีภาคพื้นดินปัจจุบัน เข้าประจำการอยู่ที่ฝูงบิน 403 กองบิน 4 ตาคลี
-จัดหา F/A-18C/D จำนวน 8ลำ เพื่อมาเป็นเครื่องบินขับไล่แบบใหม่ของกองทัพอากาศไทย แต่จากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนั้นมีผลทำให้ประเทศไทยประสบกับภาวะขาดงบประมาณอย่างรุนแรง ไม่สามารถดำเนินโครงการจัดซื้อต่อไปได้กองทัพอากาศและรัฐบาลไทยจึงเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ซื้อสัญญา F/A-18C/D ทั้ง 8 ลำกลับไป ปัจจุบัน F/A-18C/D ทั้ง 8 ลำประจำการอยู่ในหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐ หลังจากนั้นในปี 2542 กองทัพอากาศจึงจัดหา F-16ADF ที่เป็นเครื่องบินที่ปรับปรุงให้มีความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศ มือสองจำนวน 16 ลำ แบ่งเป็น F-16ADF ที่นั่งเดียว 15 ลำ และ F-16 ADF สองที่นั่ง 1 ลำ ทั้งหมดเป็นเครื่องบินที่เกินความต้องการของสหรัฐฯ ถูกเก็บไว้ที่ฐานทัพอากาศเดวิส -มอนธาน โดยใช้เงินที่เคยจ่ายไปในโครงการจัดหา F/A-18C/D และเงินที่กองทัพอากาศฝากไว้กับรัฐบาลสหรัฐ เพื่อดำรงความพร้อมรบของเครื่องบินที่ประจำการในกองทัพอากาศไทย นำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟู และปรับปรุงเครื่องบินเอฟ-16 เอดีเอฟ Block10 ให้กลับมาบินได้อีกครัั้ง โดยมีการปรับปรุงระดับ FalconUp ที่เป็นการยืดอายุโครงสร้างของเครื่องบิน และปรับปรุงระบบเรดาร์ ระบบพิสูจน์ฝ่ายเชิงรุก และเปลี่ยนเครื่องยนต์เดิม F-100-PW-200 เป็น F-100-PW-220E แบบเดียวกับเอฟ-16 ซี Block42 ของ ทอ.สหรัฐฯ
F-16ADF นับเป็นเครื่องบินแบบแรกของลูกทัพฟ้าไทย ที่มีความสามารถในการใช้อาวุธปล่อยอากาศสู่อากาศระยะกลางนำวิถีด้วยระบบเรดาร์ มีความสามารถในการโจมตีข้าศึกตั้งแต่ระยะเกินสายตา Beyond Visual Range ด้วยการมีระบบตรวจจับข้าศึกรุ่นก้าวหน้า โดยกองทัพอากาศจัดหาจรวดอากาศสู่อากาศ AIM-120 C-5 AMRAAM มาติดตั้งใช้งานกับเครื่อง F-16ADF ในปัจจุบันนี้ เครื่องบินรบอันทันสมัยและทรงประสิทธิภาพ F-16ADF ประจำการอยู่ที่ฝูงบิน 102 กองบิน 1 โคราช (ฝูงเดียวกันกับที่เกิดอุบัติเหตุจากการขึ้นทำการฝึกบินโจมตีในการฝึกผสมร่วม Cobra Gold กับกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554)
อุบัติเหตุที่เกิดกับอากาศยานความเร็วสูงอย่างเครื่องขับไล่-โจมตี F-16ADF เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรุนแรงเนื่องจากความเร็วที่ใช้ในการบิน โชคยังดีที่นักบินหนุ่มทั้งสองนายซึ่งเป็นบุคลากรชั้นเยี่ยมของกองทัพปลอดภัย เครื่องบินรบที่ได้รับความเสียหายจนถึงขั้นจำหน่ายทั้งสองลำนั้น เรายังสามารถหาซื้อมาเพิ่มเติมใหม่ได้ แต่ชีวิตของนักบินนั้น กว่าจะก้าวขึ้นมาบินกับเครื่องบินรบสมรรถนะสูงต้องใช้เวลาและความทุ่มเท บวกกับเงินงบประมาณของกองทัพในการฝึกฝน อบรมให้กลายสภาพจากชายหนุ่มธรรมดามาเป็นนักบินรบที่แข็งแกร่งนั้น ยากมากที่จะใช้เงินแล้วหามาทดแทนได้อย่างเครื่องจักรกลอากาศยาน.
ที่มา thairath