เอเอฟพี – รายงานข่าววันนี้ (5 ม.ค.) ระบุว่าแดนอาทิตย์อุทัยกำลังเสนอตัวจะร่วมสร้างกองเรือดำน้ำใหม่ให้ออสเตรเลีย
แทนที่จะส่งออกเรือดำน้ำสัญชาติญี่ปุ่นให้แดนจิงโจ้ ภายหลังเกิดความวิตกกังวลในออสเตรเลียว่า การนำเข้า
ยุทโธปกรณ์จากโตเกียวจะส่งผลให้อุตสาหกรรมการต่อเรือในแคนเบอร์ราต้องสูญเสียประโยชน์
ญี่ปุ่นเสนอตัวร่วมพัฒนา “กองเรือดำน้ำ” ให้ออสเตรเลีย เดวิด จอห์นสตัน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ผู้เคย
หลุดปากว่าไม่ศรัทธาในบริษัทผลิตเรือดำน้ำของรัฐบาลจิงโจ้ ถึงขั้นให้ผลิต “เรือแคนู” ยังไม่เอา
หนังสือพิมพ์ไมนิชิ ชิมบุนรายงานว่า ตามข้อเสนอดังกล่าว กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นจะร่วมมือกับออสเตรเลียในการพัฒนา
เหล็กเกรดพิเศษ และวัสดุอื่นๆ เพื่อสร้างเรือดำน้ำใหม่ๆ ขณะที่โตเกียวจะรับหน้าที่เป็นผู้ต่อประกอบเรือ
นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์รายวันของแดนซากุระระบุด้วยว่า ออสเตรเลียได้แสดงท่าทีต่อข้อเสนอดังกล่าว “ในเชิงบวก”
พร้อมกับระบุเพิ่มเติมว่า ทั้งสองประเทศอาจบรรลุข้อตกลงกันภายในสิ้นปี 2015
ออสเตรเลียจำเป็นต้องหาเรือดำน้ำใหม่ๆ เข้าประจำการแทนเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า ซึ่งเป็นของเก่ามาตั้งแต่
สมัยทศวรรษที่ 1990 โดยคาดหมายกันว่า อุตสาหกรรมการต่อเรือที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าของญี่ปุ่นจะได้รับการพิจารณา
ในฐานะผู้คุณสมบัติเหมาะสม และได้เซ็นสัญญาร่วมกับแดนจิงโจ้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม บรรดานักการเมืองฝ่ายค้าน และกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมในออสเตรเลียต่างแสดงท่าทีต่อต้าน โดยชี้ว่า
การที่กิจการต่อเรือภายในประเทศไม่ได้ทำสัญญาฉบับนี้ อาจกลายเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ จนอาจส่งผลกระทบ
ต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ต่างลงความเห็นว่า ญี่ปุ่นน่าจะมีศักยภาพในการจัดหากองเรือดำน้ำ ในงบประมาณที่ต่ำกว่า
อุตสาหกรรมต่อเรือดำน้ำในออสเตรเลียถึงครึ่ง
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นกำลังเดินหน้าโปรโมตอุตสาหกรรมการผลิตของแดนอาทิตย์อุทัยในต่างแดน โดยมีนายกรัฐมนตรี
ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่นซึ่งกำลังออกเดินสายไปทั่วโลก เป็นผู้บัญชาการพนักงานขายสูงสุด
อาเบะให้เหตุผลว่า ญี่ปุ่นจะต้องขยายบทบาทในเวทีโลก และได้ผลักดันให้มีการตีความใหม่รัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างขึ้น
หลังแดนอาทิตย์อุทัยพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อส่งกองกำลังป้องกันประเทศที่มีอาวุธครบครันไปร่วมรบ
ปกป้องชาติพันธมิตร และร่วมปฏิบัติภารกิจสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในต่างแดน
นอกจากนี้ นายกฯ อาเบะยังได้ผ่อนปรนกฎห้ามส่งออกอาวุธที่ประเทศนี้ประกาศใช้มานานเกือบ 5 ทศวรรษ
เพื่อถางทางให้แก่การทำข้อตกลงด้านยุทโธปกรณ์กับแก่ออสเตรเลียในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ ยังไม่มีฝ่ายใดออกมาแถลงยืนยันรายงานข่าวของไมนิชิ ชิมบุน
ที่มา http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9580000001108