หลังจากช่วงนี้ในหลายพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะช่วยคลายร้อนจากสภาพอากาศที่อบอ้าว และส่งผลดีแก่พื้นที่ทางการเกษตรเป็นวงกว้างแล้วนั้น ยังพบว่าถือเป็นช่วงนาทีทองของชาวบ้าน ในพื้นที่อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่างพากันจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ออกหาจับอึ่ง จับกบ จับเขียด ซึ่งออกมาเล่นน้ำ ส่งเสียงร้องหาคู่ผสมพันธ์กันตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ช่วยให้ชาวบ้าน มีรายได้จากการจับอึ่ง กบ เขียด ขายสร้างรายได้งาม
สอบถาม นายสนุรัตน์ อุทัยคำ อายุ 56 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 193 หมู่7 บ้านวังไทรทอง ต.ซับเปิบ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ เล่าให้ฟังว่า ในทุกปีหลังจากฝนแรก ที่ตกลงมาอย่างหนัก จนมีน้ำท่วมขังตามท้องทุ่งนาและตามแหล่งน้ำในธรรมชาติ ชาวบ้านจะรีบพากันจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับใช้จับ อึ่ง กบ และเขียด ลักษณะเป็นบ่วงตาข่ายต่อด้ามไม้ยาวพอเหมาะ เพื่อนำมาทำเป็นอาหารรับประทานในครัวเรือน ลดรายจ่าย และส่วนหนึ่ง จะนำมาแบ่งขายในชุมชน และตามท้องตลาด เพื่อสร้างรายได้เสริม ซึ่งแต่ละคนสามารถจับอึ่งได้มากถึงคนละ 5-10 กิโลกรัม และบางคนสามารถจับได้มากสุดถึงกว่า 30 กิโลกรัม ทำให้มีรายได้เฉลี่ยครั้งละกว่า 500 – 3,000 บาทเลยทีเดียว
นายสนุรัตน์ อุทัยคำ อายุ 56 ปี เล่าต่อว่า ถึงแม้ราคาซื้อขายอึ่ง จะมีราคาดี สร้างรายได้อย่างงาม แต่เนื่องจากเป็นอาหารตามฤดูกาล ทำให้ในแต่ละปี จะสามารถจับอึ่งได้เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น และไม่เพียงพอต่อความต้องการของท้องตลาด เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภค มาเลือกซื้อหาไปทำอาหาร ในเมนูยอดฮิต เช่น อึ่งย่าง ยำอึ่ง แกงอ่อมอึ่ง ต้มยำอึ่งใส่ใบมะขามอ่อน หรือจะนำไปถนอมอาหาร ด้วยวิธีการหมักเป็นปลาร้าอึ่ง เพื่อเก็บไว้รับประทานนานๆ ก็ได้
โดยในปีนี้ พบว่าราคาซื้อขายอึ่ง จะแบ่งออกเป็น อึ่งโกรกหรืออึ่งข้างลาย ตัวที่มีไข่ ขายกิโลกรัมละ 150 บาท อึ่งโกรกหรืออึ่งข้างลาย ไม่มีไข่ ขายกิโลกรัมละ 100 บาท อึ่งยาง ขายรวมราคากิโลกรัมละ 100 บาท นอกจากนั้น ชาวบ้านยังสามารถหาจับ กบ และ เขียด มาขายในคราวเดียวกัน โดย กบนา ขายราคา กิโลกรัมละ 200 บาท เขียดสด ขายราคากิโลกรัมละ 150 บาท และ หากนำเขียดสดมาแปรรูปเป็นเขียดแดดเดียว ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่า ขายได้ราคากิโลกรัมละ 200 บาท
เดชา มลามาตย์ /มนสิชา คล้ายแก้ว ผู้สื่อข่าวจังหวัดเพชรบูรณ์