วันที่ 23 เมษายน 2561 เวลา 09.39 น ที่ศาลหลักเมืองนครบาล ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงสมโภชศาลหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์และสักการะอนุสาวรีย์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ครบรอบ 74 ปี) โดยมีนายชนก มากพันธ์ นายอำเภอหล่มสัก นายภัทรดร พุทธนุรัตนะ นายก อบต.บุ่งน้ำเต้า หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่นและประชาชนร่วมพิธีคับคั่ง
ย้อนไปยังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามมหาเอเชียบูรพา กรุงเทพมหานครถูกข้าศึกโจมตีประชาชนต้องอพยพออกต่างจังหวัด จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในยุคนั้นจึงมีนโยบายย้ายเมืองหลวงไปยังที่ปลอดภัยและได้เลือกเพชรบูรณ์เป็นสถานที่ตั้งเมืองหลวง เพราะเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะสม มีภูเขาล้อมรอบ ทีทางออกเดียวศัตรูรุกรานได้ยาก คณะรัฐมนตรีจึงได้ยกร่างพระราชกำหนดสร้างนครบาลขึ้น ชื่อว่า พระราชกำหนดระเบียบการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์และสร้างพุทธบุรี พ.ศ.2487 เสาหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์ ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ฐาน 8 เหลี่ยม ทำด้วยไม้มงคล 8 ชนิด ทำพิธีปลุกเษกที่วัดสุทัศน์เทพวราราม เมื่อวันที่ 9-13 เมษายน 2487 ต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2487 เวลา 14.19 น.จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ทำพิธีฝังเสาหลักเมืองขึ้น ณ บ้านบุ่งน้ำเต้า ต.บุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ และเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดระเบียบการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์พุทธบุรี พ.ศ.2487 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเมื่อ วันที่ 24 กรกฎาคม 2487 นครบาลเพชรบูรณ์จึงเป็นอันสิ้นสุด หน่วยงานราชการต่างๆ จึงต้องย้ายกลับกรุงเทพมหานครดั่งเดิม
ศาลหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์ เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาวเพชรบูรณ์แสดงหลักฐานการย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์จึงนับว่า เป็นเสาหลักเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของประเทศไทย ประชาชนชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ให้ความเคารพบูชาถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และในบริเวณของศาลหลักเมืองฯ ได้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นรูปหล่อโลหะขนาดเท่าตัวจริงในเท่ายืน ชาวอำเภอหล่มสักจึงได้จัดให้มีพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองนครบาล และวางพวงมาลาสักการะอนุสาวรีย์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นประจำปีทุกปี เพื่อแสดงความเคารพและรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งครั้งหนึ่งท่านได้มีดำริที่จะก่อสร้างบ้านเมืองหลวงของประเทศไทย ณ ที่แห่งนี้ โดยได้กำเนินการจัดกิจกรรมสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
มนสิชา คล้ายแก้ว ผู้สื่อข่าวจังหวัดเพชรบูรณ์