ว่าที่ร้อยโท ณฐพงศ์ พรพฤฒิพันธุ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโคก พร้อมด้วย ชาวบ้านบ้านน้ำเลา อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ จัดงานประเพณีฟันตรุษ ตีขนมส่งผี ซึ่งเป็นประเพณีที่แปลก ที่ชาวบ้านทำสืบทอดกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน ก่อนเทศกาลสงกรานต์ โดยมีความเชื่อกันว่า เป็นการตัดสิ่งชั่วร้าย ออกจากปีเก่า และต้อนรับสิ่งใหม่ในเทศกาลสงกรานต์ซึ่งถือเป็นปีใหม่ของคนไทยในสมัยโบราณ
ประเพณีไทยอันดีงามที่สืบทอดกันมา ล้วนมีความแตกต่างกันตามความเชื่อ ความผูกพันของผู้คนต่อการดำรงชีวิต ซึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่รอยต่อของภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ทำให้มีประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป เช่นเดียวกับ ประเพณีฟันตรุษของชาวบ้านน้ำเลา ต.บ้านโคก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นประเพณีที่แปลก ที่ชาวบ้านจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และทำสืบทอดกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน ในช่วงสิ้นปีเก่าไทย คือ ก่อนเทศกาลสงกรานต์ โดยสิ่งสำคัญในการประกอบพิธี คือ ต้นตรุษ ซึ่งเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายกับต้นข่า พบได้ในป่าลึกเหนือหมู่บ้านน้ำเลา โดยเฉพาะในหุบเขาที่มีน้ำไหลและความชุ่มชื้น ก่อนที่จะมีการจัดประเพณีฟันตรุษ ชาวบ้านน้ำเลา ทั้งผู้ใหญ่ หนุ่มสาว และเด็กๆ จะมารวมตัวกันอย่างพร้อมเพียงที่วัด เพื่อช่วยกันเตรียมข้าวของและสถานที่ในการจัดประเพณี โดยผู้ชายจะพากันไปเข้าป่าเพื่อตัดต้นตรุษ เมื่อได้ต้นตรุษมาแล้ว ก็จะนำมามัดติดกับไม้ที่ตั้งเป็นคู่ กลางลานวัดน้ำเลา ลักษณะเหมือนกำแพง ข้างต้นตรุษจะมีกองทราย 1 กอง เพื่อให้ชาวบ้านนำดอกไม้ธูปเทียนไปประดับ ส่วนผู้หญิงก็ทำอาหารจัดงานเลี้ยง จากนั้นในช่วงเย็น ทุกคนก็จะมารวมตัวกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน และตั้งขบวนแห่ดอกไม้ที่จัดไว้อย่างสวยงาม ต้นขบวนจะมีการเป่าปี่เพื่อเป็นการสร้างสีสัน ขบวนจะแห่ไปตามเส้นทางในหมู่บ้านและสิ้นสุดที่วัดน้ำเลา แล้วทำการแห่รอบต้นตรุษ 3 รอบ ทำการปักธูปเทียนบนกองทราย พร้อมถวายดอกไม้ จากนั้นจะมีหญิงสาวแต่งกายด้วยชุดโจมกระเบน ออกมารำดาบรอบต้นตรุษ คล้ายกับเพชฌฆาตที่ฆ่าต้นตรุษ ก่อนจะลงมือฟันตรุษ โดยการฟันต้นตรุษจะต้องฟันถึง 3 วัน ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่า เป็นการตัดสิ่งชั่วร้าย ออกจากปีเก่า และต้อนรับสิ่งใหม่ในปีต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านเพื่อความสิริมงคล จากนั้นเป็นการรำถวายดอกไม้ และกิจกรรมการตีกินขนม และการส่งผี เป็นพิธีที่คล้ายกับการทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งให้ผีกิน โดยจะมีเด็กและวัยหนุ่มสาวแต่งกายเป็นผีชนิดต่างๆ รวมตัวกันที่เหนือหมู่บ้านจัดเป็นขบวน ผี โห่ร้องผ่านหมู่บ้าน ทำท่าเหมือนมาขอส่วนบุญ ขณะที่ชาวบ้านก็จะจัดกระทงขนมไว้ให้กับขบวนผี พร้อมกับจุดไฟ จุดประทัด และยิงปืน เพื่อเป็นการขับไล่ผีออกจากหมู่บ้าน เพื่อไม่ให้กลับมารบกวน
ประเพณีฟันตรุษ เป็นประเพณีที่แฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะการแสดงออกถึงความร่วมมือของชาวบ้าน การสอนให้คนรุ่นหลังรู้ถึงบาปบุญคุณโทษ รักสามัคคี มีความเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีที่นอกจากบ่งบอกถึงความรัก ความสามัคคีของชุมชนแล้ว ยังเป็นการสืบสานงานบุญตามความเชื่อที่แฝงไว้ด้วยความรู้ และความสนุกสนาน
มนสิชา คล้ายแก้ว ผู้สื่อข่าวจังหวัดเพชรบูรณ์