กลุ่มก่อการร้ายไอซิสหรือไอเอส ผู้ก่อเหตุสะเทือนขวัญและไม่รีรอจะโฆษณาความโหดเหี้ยมของตัวเองคงทำให้ผู้คน
ตั้งคำถามจนนำมาสู่ข้อถกเถียงจำนวนมาก รายงานนี้พยายามรวบรวมหลายแง่มุมทั้งที่มา ระบบเศรษฐศาสตร์สงคราม
แนวคิดและการชักจูง ของกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้
ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มก่อการร้ายไอซิส หรือไอเอส ได้แสดงการสังหารนักข่าวอย่างป่าเถื่อนไปถึง 2 ราย โดยทั้งสองคนเคย
เป็นนักข่าวที่เคยไปทำข่าวในพื้นที่ประเทศที่กำลังมีความขัดแย้งอย่างหนักอย่างซีเรีย ทำให้มีข้อสงสัยว่ากลุ่มไอซิสที่
เพิ่งสถาปนาตนเป็นผู้จัดตั้งรัฐอิสลามและเปลี่ยนชื่อเป็นไอเอสมีเป้าหมายอะไรและอะไรทำให้กลุ่มติดอาวุธนี้ขึ้นมา
มีอำนาจได้
เดิมทีกลุ่มไอซิสมาจากกลุ่มติดอาวุธที่ช่วยเหลือรัฐบาลอิรักในการสู้รบกับกองกำลังสหรัฐฯ ในช่วงสงครามอิรักปี 2546
ก่อนที่ต่อมาจะจัดตั้งเป็นกลุ่ม “รัฐอิสลามแห่งอิรัก” (ISI) และแผ่ขยายอิทธิพลในหลายเมืองของซีเรียในช่วงที่ซีเรีย
กำลังเกิดสงครามกลางเมือง ทำให้มีชื่อเป็นกลุ่ม “รัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย” หรือไอซิส (ISIS) จนกระทั่งล่าสุด
ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นเพียงกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอส (IS) (ในรายงานชิ้นนี้ขอเรียกว่า ‘ไอซิส’)
“นักข่าวทั้งในและนอกประเทศต่างก็รู้ว่าซีเรียเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับนักข่าว ก่อนหน้าการสังหาร
ตัดหัวเจมส์ โฟลีย์ จะได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว” โรเบิร์ต มาโฮนีย์ รองผู้อำนวยการของ
คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) กล่าว
“กลุ่มสมาชิกไอเอสที่สังหารเขาใช้ความรุนแรงและการข่มขู่เพื่อทำให้ไม่มีการรายงานข่าวในพื้นที่ที่พวกนั้น
มีอำนาจอยู่ แต่กระนั้นก็ตามนักข่าวทั้งในและนอกประเทศเช่นโฟลีย์ก็ยังคงเลือกเสี่ยงชีวิต” มาโฮนีย์กล่าว
การฉวยโอกาสในสงครามกลางเมืองซีเรีย
ข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดียระบุว่าไอซิสเป็นกลุ่มหัวรุนแรงนิกายซุนนีที่เดินตามแนวทางอุดมการณ์ของ
กลุ่มอัลเคดา พวกเขาเชื่อการตีความศาสนาอิสลามในแบบที่ต่อต้านชาติตะวันตกอย่างสุดโต่ง สนับสนุน
การใช้ความรุนแรง และกล่าวหาคนที่ไม่เห็นด้วยกับการตีความของพวกตนว่าเป็นพวกนอกรีตหรือ
คนไม่มีศรัทธา
ในช่วงสงครามกลางเมืองซีเรียที่มีกลุ่มติดอาวุธจากภายนอกประเทศเข้าไปร่วมด้วยหลายกลุ่ม แต่ก็มีความ
สัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับกลุ่มกบฏหลักภายในประเทศอย่างฟรีซีเรียนอาร์มีหรือเอฟเอสเอ (FSA) ซึ่งมาจาก
ผู้แปรพักตร์จากกองทัพซีเรียที่ต้องการโค่นล้มผู้นำบาชาร์ อัลอัสซาด และกำจัดผู้ที่สังหารประชาชน
โดยเอฟเอสเอเป็นกลุ่มไม่ฝักใฝ่ศาสนาและได้รับการฝึกและได้รับอาวุธจากสหรัฐฯ โดยในช่วงเดือน ม.ค.
ที่ผ่านมามีการปะทะกันระหว่างกลุ่มกบฏสองกลุ่มนี้
นอกจากไอซิสแล้วยังมีกลุ่มศาสนาหัวรุนแรงอื่นๆ อีกที่เข้าร่วมสงครามซีเรีย แต่กลุ่มไอซิสเป็นกลุ่มเดียว
ที่มีความยึดมั่นในด้านการก่อตั้งรัฐอิสลามอย่างมาก โดยไอซิสมักจะใช้วิธีการที่โหดเหี้ยมในการโจมตี
นิกายอื่นและสั่งใช้กฎหมายของตัวเองโดยทันทีที่สามารถยึดครองพื้นที่ได้
รายงานในบีบีซีระบุว่ากลุ่มติดอาวุธนิกายซุนนีสุดโต่งและผู้สนับสนุนต่างคิดว่ารัฐบาลอัสซาดจะล่มสลาย
จึงพยายามฉวยโอกาสนี้เพื่อปรับให้ซีเรียกลับมาอยู่ภายใต้อิทธิพลของนิกายซุนนีเพื่อตัดขาดจาก
นิกายชีอะฮ์ของอิหร่าน
ไอซิสได้รับเงินสนับสนุนจากไหน
จากการวิจัยของแรนด์คอร์ปอเรชั่นซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยให้กับกองทัพสหรัฐฯ เปิดเผยว่าตั้งแต่ในปี
2548-2553 กลุ่มไอซิสได้รับเงินสนับสนุนจากภายนอกเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่เหลือนอกจากนั้นมา
จากในอิรัก และในช่วงที่กำลังศึกษาข้อมูลอยู่พบว่าไอซิสยังมีรายได้จากการลักพาตัวและขู่เรียกค่าไถ่
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเคยรายงานว่ากลุ่มไอซิสมักจะใช้วิธีการขู่กรรโชกทรัพย์สินจากคนขับรถบรรทุก
และขู่จะระเบิดอาคารรวมถึงปล้นธนาคารและร้านทองเพื่อนำมาเป็นทุน
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ยังเปิดเผยต่อสื่อว่าไอซิสได้รับเงินมาจากการควบคุม
บ่อน้ำมันและการค้าของเถื่อนรวมถึงวัตถุในทางโบราณคดี อีกทั้งยังมีการค้าพลังงานไฟฟ้าให้กับ
ทางตอนเหนือของซีเรีย รายงานของบีบีซีระบุว่าไอซิสส่งออกน้ำมันราว 9,000 บาร์เรลต่อวัน
ด้วยราคาหน่วยละ 25-45 ดอลลาร์ (ราว 750-1,350 บาท)
ในแง่ของเงินสนับสนุน ไอซิสมักจะได้รับมาจากผู้บริจาคที่เป็นเอกชนในประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย
ทางการอิรักและอิหร่านเคยกล่าวหาว่าซาอุดิอาระเบียและกาตาร์ให้เงินทุนสนับสนุนไอซิสแต่ก็ยัง
ไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องจริง
ไมเคิล สตีเฟนส์ ผู้อำนวยการสถาบันรอยัลยูไนเต็ตเซอร์วิสในกาตาร์กล่าวว่า กลุ่มไอซิสได้รับเงิน
สนับสนุนจากผู้มั่งคั่งในประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย แต่ก็ลดจำนวนลงตั้งแต่ปี 2556 อย่างไรก็ตาม
แม้ว่าทางการกาตาร์อาจจะไม่ได้ให้เงินสนับสนุนโดยตรงแก่ไอซิส แต่ความสะเพร่าด้านนโยบาย
ก็ทำให้อาวุธและเงินทุนของกาตาร์ตกไปอยู่ในมือของไอซิสได้จากการที่กาตาร์พยายามโค่นล้มอัสซาด
รายงานในบีบีซีระบุว่าไอซิสมีระบบจัดการกับเมืองที่พวกเขาเข้ายึดครอง โดยมีการดำเนินการคล้ายรัฐ
คือมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ มีการตั้งศาลของตัวเอง และมีระบบการจัดเก็บภาษี กลุ่มติดอาวุธยังได้ยึดแหล่ง
ทรัพยากรอย่างน้ำ แป้งทำอาหาร และก๊าชธรรมชาติของเมืองนั้นๆ ไว้ทันทีเพื่อทำตัวเป็นผู้แจกจ่ายทรัพยากร
เหล่านี้แก่คนในพื้นที่ทำให้คนในพื้นที่จำใจต้องพึ่งพิงพวกเขา
“การพึ่งพิงกับการได้รับความสนับสนุนนั้นไม่เหมือนกัน แล้วมันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะชี้วัดว่ามี ‘พลเรือน’
ภายใต้การปกครองของกลุ่มไอเอสมากเท่าใดที่เห็นคล้อยตามหรือแค่ยอมทำตามกฎของพวกเขาเพียง
เพราะต้องการความมั่นคงหรือกลัวว่าจะถูกลงโทษ” สตีเฟนส์ระบุในบทความ
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือการที่รัฐบาลอัสซาดเองก็ซื้อทรัพยากรบางอย่างจากไอซิสแล้วก็ขายอาวุธ
ให้กับกลุ่มไอซิส แม้ว่าไอซิสจะเป็นหนึ่งในกลุ่มที่สู้รบกับทางการซีเรีย ในเรื่องนี้วลาดิเมียร์ ฟาน วิลเกนเบิร์ก
นักวิเคราะห์จากเจมส์ทาว์นบอกว่ากรณีนี้เป็น “เศรษฐศาสตร์สงครามแบบดั้งเดิม” เช่นในกรณีสงคราม
กลางเมืองเลบานอนที่ผู้นำฝ่ายที่ขัดแย้งกันต่างก็สู้รบกันเพื่อที่จะทำให้เกิดการค้าขายแลกเปลี่ยน
เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มไอซิสมีความสามารถในการบริหารเงินทุนของตนเอง ทำให้พวกเขาไม่กระทบมาก
จากการถูกตัดขาดออกจากโลกภายนอก เพราะพวกเขาเกี่ยวข้องกับเสถียรภาพภายในพื้นที่โดยหาผล
ประโยชน์จากภายในพื้นที่และยังให้ผลประโยชน์กับกลุ่มระดับผู้นำที่พวกเขาต่อสู้ด้วย
จิม มูร์ นักวิเคราะห์จากบีบีซีระบุว่า กลุ่มไอซิสต่างจากกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่โฆษณาการกระทำโหดเหี้ยม
ของตัวเองอย่างออกหน้าออกตาทางอินเทอร์เน็ตทั้งการสังหารทหารและกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์
รวมถึงการสังหารตัดคอนักข่าว เมื่อบวกกับลักษณะการโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัวแล้วสิ่งที่ไอซิสทำจึงเป็น
การข่มขวัญและสร้างความแตกตื่น แต่ก็มีศัตรูของกลุ่มไอซิสบางรายที่ไม่สนใจยุทธวิธีสงครามจิตวิทยา
ของไอซิสเช่นกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดในซีเรียที่บางครั้งก็สู้รบชนะไอซิส รวมถึงกลุ่มชาวเคิร์ดและนิกายชีอะฮ์ในอิรัก
ไอซิสผู้เข่นฆ่าพลเรือน
คงไม่มีใครปฏิเสธเรื่องการแสดงออกที่รุนแรงของกลุ่มไอซิส แต่สำหรับผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองด้วยปาก
กระบอกปืนของกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้มีสภาพอย่างไร ในเรื่องนี้องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลรายงานว่า
พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่ากลุ่มไอซิสได้ก่ออาชญากรรมสงครามด้วยการกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์ทางตอนเหนือ
ของอิรัก โดยมีการสังหารและลักพาตัวคนจำนวนมากซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่เป็นพลเรือน
รายงานของแอมเนสตี้ระบุในรายละเอียดว่ากลุ่มติดอาวุธได้นำพลเรือนทั้งผู้ใหญ่และเด็กในเขตซินจาร์
ทางตอนเหนือของอิรักขึ้นรถบรรทุกพาออกนอกตัวหมู่บ้านเพื่อทำการสังหารหมู่ไม่เว้นเด็กและผู้หญิง
โดยดอนนาเทลลา โรเวรา ผู้ให้คำปรึกษาด้านการตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤติขององค์กรแอมเนสตี้
ระบุว่ากลุ่มไอซิสพยายามกำจัดกลุ่มเชื้อชาติที่ไม่ใช่ชาวอาหรับและไม่ใช่ชาวมุสลิมนิกายซุนนี แต่มีผู้รอด
ชีวิตจากการบุกสังหารหมู่คนในหมู่บ้านโคโชเป็นผู้เล่าเหตุการณ์ให้ฟัง
ผู้รอดชีวิตรายหนึ่งชื่อซาอิดถูกยิง 5 นัด และอีกรายหนึ่งชื่อซาเลม สามารถซ่อนตัวจนรอดพ้นจากการถูก
สังหารมาได้ และต่อมาได้เดินทางด้วยลาเข้าไปในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน (KRG) ในรายงาน
ของแอมเนสตี้ระบุอีกว่าการกระทำเช่นนี้ถือเป็นอาชญากรรมสงครามและนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
การเกณฑ์ผู้มีแนวคิด ‘หัวรุนแรง’ จากชาติตะวันตก
ในวิดีโอที่แสดงการสังหารนักข่าวมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดผู้สังหารซึ่งคลุมหน้าอยู่ถึงได้พูดภาษาอังกฤษ
ด้วยสำเนียงแบบบริติช ทำให้ทางการอังกฤษพยายามสอบสวนในเรื่องนี้ ซึ่งทางการอังกฤษทราบว่ามีชาว
อังกฤษประมาณ 500 คนเดินทางไปอิรักและซีเรียเพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มไอซิสหรือกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ขณะที่
รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมและพรรคแรงงานซึ่งเป็นฝ่ายค้านในอังกฤษต่างก็แสดงออกว่าจะร่วมมือกันเพื่อ
ลดแนวคิดแบบสุดโต่งในหมู่ประชาชน
แม้แต่ในสหรัฐฯ ก็มีพลเรือนราว 100 คนเดินทางไปยังซีเรียเพื่อร่วมสงครามกลางเมืองในฝ่ายกลุ่มติดอาวุธ
อิสลามจากข้อมูลของศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ มีหลายคนถูกสังหารจากการสู้รบที่ซีเรีย
เหตุใดผู้คนเหล่านี้ถึงทิ้งชีวิตพลเรือนในประเทศอย่างอังกฤษและสหรัฐฯ และออกไปสู้รบเช่นนั้น อาจจะมี
หลายเหตุผล ในบางกรณีก็เป็นสิ่งที่ผู้ที่เลือกหนทางเหล่านั้นเองที่จะตอบได้
ส่วนหนึ่งมาจากการพยายามโฆษณาตัวเองผ่านสื่อชนิดต่างๆ ซึ่งพยายามปรับให้เข้ากับยุคสมัย เช่นในกรณี
หนึ่งเป็นอินโฟกราฟิกที่ดู ‘เซอร์เรียล’ แสดงให้เห็นจำนวนปฏิบัติการก่อการร้ายของกลุ่ม ซึ่งนักวิเคราะห์
สงครามมองว่าเป็นการพยายามแสดงศักยภาพให้กับผู้บริจาคและแสดงการเปรียบเทียบการใช้อำนาจจาก
ผู้อยู่ในระดับชั้นนำของกลุ่มติดอาวุธเทียบกับกลุ่มผู้รับคำสั่ง
มีส่วนหนึ่งอาศัยอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการเรียกหาคนที่มีแนวคิดหัวรุนแรง ฮูเมรา ข่าน ผู้อำนวย
การบริหารขององค์กรมัฟเฟิลฮัน ซึ่งเป็นองค์กรต่อต้านการใช้ความรุนแรงจากแนวคิดสุดโต่งกล่าวว่า
ผู้เกณฑ์นักรบของไอซิสจะใช้วิธีการกล่อมคนให้สนใจโดยใช้ทวิตเตอร์ หลังจากนั้นจึงติดต่อคน
ที่สนใจผ่านอีเมลและสไกป์
ขณะที่ฝ่ายการต่างประเทศของสหรัฐฯ พยายามตอบโต้ด้วยการสร้างทวิตเตอร์ที่ชื่อ “Think AgainTurn Away”
ที่พยายามกล่าวถึงกลุ่มไอซิสในแง่ลบ ด้านทางการอังกฤษก็มีการนำเนื้อหาที่เกี่ยวกับการก่อการร้าย
28,000 ชิ้น และวิดีโอเกี่ยวกับกลุ่มไอซิสอีก 46 ชิ้นออก
โรนัลด์ แซนดี อดีตนักวิเคราะห์จากหน่วยข่าวกรองของกองทัพเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมกับ
กลุ่มติดอาวุธมักจะเดินทางไปที่ตุรกีเนื่องจากสามารถอ้างเป้าหมายการเดินทางได้ง่ายว่าไปท่องเที่ยว
เช่นกรณีชาวอเมริกันรายหนึ่งชื่อ อิริค ฮาร์รูน เดินทางไปตุรกีก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังซีเรียเพื่อร่วมกับกลุ่มติดอาวุธ
ความล้มเหลวทางนโยบาย และภาพฝันของรัฐสมัยใหม่ที่พังทลาย
เหตุใดกลุ่มไอซิสถึงมีแนวความคิดแบบสุดโต่งและสามารถจูงใจให้คนที่มีแนวคิดเช่นนี้เข้าร่วมกลุ่มได้ ปัจจัย
หนึ่งอาจจะมาจากปมปัญหาด้านมุมมองของชาติตะวันตกต่อภูมิภาคอาหรับตั้งแต่ 60 ปีที่แล้ว เช่นที่งานศึกษา
ของ เอ็ดเวิร์ด ซาอิด นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องมุมมองการเหมารวมชาติอาหรับที่เรียกว่า ‘ออเรียนทอลลิซึ่ม’
ระบุว่าชาติตะวันตกมักจะใช้วาทกรรมว่าชาติอาหรับมีความล้าหลังเพื่อพยายามแทรกแซงและเข้ายึด
อาณานิคมชาติอาหรับในยุคสมัยนั้น
ในบทความเว็บไซต์นิวสเตรทไทม์ออนไลน์เขียนโดยฟาริช นูร์ ระบุว่าตั้งแต่ช่วงกลางคริสตทศวรรษที่ 1950
แนวคิดชาตินิยมอาหรับกลายเป็นพลังสำคัญในการต่อต้านแนวคิดการครอบงำของชาติตะวันตก และผู้นำ
อย่างกามาล นัซเซอร์ ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอียิปต์ ก็พยายามสร้างรัฐอาหรับภายใต้หลักการเรื่อง
ความร่วมมือและมติมหาชน ซึ่งถือว่ามีความเป็นรัฐสมัยใหม่ที่ไม่ใช่รัฐตะวันตกในยุคนั้น
แต่ความฝันก็พังทลายลงจากความพ่ายแพ้ทางการทหารหลายครั้ง ทำให้หลังจากนั้นรัฐต่างๆ ในอาหรับ
มีผู้นำอำนาจนิยมเกิดขึ้น และความสัมพันธ์กับตะวันตกเป็นไปแบบ ‘กึ่งรักกึ่งชัง’ รูปการณ์เหล่านี้ทำให้เกิด
ปัญหาความไม่พอใจของคนจนในเมือง กลุ่มคนหนุ่มสาวที่ไม่มีความหวัง รวมถึงปัญหาชนกลุ่มน้อย
ทางศาสนาและวัฒนธรรม ทำให้รากฐานการปกครองในประเทศอาหรับมีความคลอนแคลนอยู่ก่อน
หน้าที่จะเกิดกลุ่มไอซิสแล้ว
นูร์ระบุในบทความว่าสิ่งที่ทำให้กลุ่มติดอาวุธอย่างไอซิสเติบโตอย่างรวดเร็วไม่ได้มาจากเรื่องความเชื่อ
ความศรัทธา หรือโชคช่วย แต่เป็นความล้มเหลวจากการไม่สามารถสร้างรัฐอาหรับที่มีประชาธิปไตยแบบ
ตัวแทนได้ เช่นในอิรักรัฐบาลนูรี อัลมาลิกิ ดำเนินนโยบายแบบทำให้ชาวนิกายซุนนีในอิรักรู้สึกถูกกีดกัน
ให้อยู่ชายขอบและเกิดความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในรัฐ ในซีเรียก็มีการเกณฑ์ผู้ที่รู้สึกถูกกีดกันทางนโยบายและ
ถูกรัฐปราบปรามให้เข้าร่วม
ไอซิสจึงได้โอกาส ‘ขายฝัน’ ด้วยการพูดถึงรัฐอุดมคติทางศาสนาที่ข้ามพ้นเขตแดนโดยการประกอบสร้าง
จินตนาการจากในอดีตเสียใหม่ ทำให้คนที่ไม่เชื่อมั่นในรัฐและไม่รู้สึกว่าตนมีคุณค่าในความเป็นพลเมือง
ถูกชักจูง นูร์ชี้ว่าไอซิสปฏิบัติการอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนเนื่องจากความรู้สึกที่ว่าพวกเขาไม่มีอะไรจะเสีย
นูร์ระบุว่า ผู้ที่อ้างว่าไอซิสเป็นกลุ่มที่ถูกสร้างขึ้นจากการสมคบคิดเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของอิสลามและ
ชาวมุสลิมอาจจะไม่มีอะไรมาพิสูจน์ทฤษฎีนี้ แต่พวกเขาก็พูดตรงจุดในเรื่องที่กลุ่มไอซิสทำให้ภาพลักษณ์
ของรัฐอาหรับดูย่ำแย่ ทำให้ความพยายามสร้างชาติของชาวอาหรับดูเสื่อมโทรมลง พวกเขาอาจทำให้ความ
เป็น ‘รัฐ’ ในโลกอาหรับสูญสลายไปโดยพยายามทำให้เห็นว่าชาติอาหรับวิวัฒน์มาจาก ‘เผ่าชนนิยม’ ที่ไม่มี
โอกาสได้สัมผัสกับกระบวนการความเป็นสมัยใหม่ นี่เป็นสิ่งที่น่าเศร้าสำหรับผู้นำและปัญญาชนชาวอาหรับ
ในยุคสมัยนี้ ซ้ำยังเป็นการทรยศต่อความฝันที่จะปลดแอกตนเองของชาวอาหรับด้วย
เรียบเรียงจาก
Syrian opposition turns on al-Qaida-affiliated Isis jihadists near Aleppo, The Guardian, 03-02-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/jan/03/syrian-opposition-attack-alqaida-affiliate-isis
ISIS: The first terror group to build an Islamic state?, CNN, 13-06-2014
http://edition.cnn.com/2014/06/12/world/meast/who-is-the-isis/
Islamic State: Where does jihadist group get its support?, BBC, 01-09-2014
http://www.bbc.com/news/world-middle-east-29004253
David Cameron outlines new anti-terror measures to MPs, BBC, 01-09-2014
http://www.bbc.com/news/uk-29008316
The surreal infographics ISIS is producing, translated, VOX, 24-06-2014
http://www.vox.com/2014/6/24/5834068/the-iraqi-rebels-make-annual-reports-with-infographics-we-translated
Following a dangerous path to radicalisation in Syria, BBC, 02-09-2014
http://www.bbc.com/news/world-us-canada-28958980
Gruesome evidence of ethnic cleansing in northern Iraq as Islamic S
ที่มา
ประชาไท