สาวเกาหลีเหนือเผยทั้งน้ำตา กว่าจะดิ้นรนออกมาหาอิสรภาพได้ ต้องผ่านชีวิตโหดร้ายกดขี่
ในดินแดนโสมแดงอย่างสาหัส แค่ดูหนังตะวันตกก็ถูกลงโทษประหาร
หากจะกล่าวว่าเกาหลีเหนือขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนลับแลก็คงไม่ผิดนัก เพราะแม้จะรู้หลักแหล่งตำแหน่งแน่นอนของที่ตั้ง
แต่ความเป็นไปของชีวิตผู้คนในประเทศแห่งนี้กลับไม่ค่อยเป็นที่เปิดเผยต่อโลกภายนอกเท่าไร กระนั้นก็ยังได้ยินเรื่อง
เล่าจากปากคำของชาวเกาหลีเหนือที่เล็ดรอดหลบหนีออกมาจากบ้านเกิดของตัวเองได้สำเร็จ ว่าแผ่นดินเกิดของตน
นั้นโหดร้ายกดขี่เพียงใด จึงยอมเสี่ยงตายหนีออกมาหาอิสรภาพ และ ยองมี ปาร์ค (Yeonmi Park) ก็เป็นอีกหนึ่งคน
ที่มาบอกเล่าเรื่องราวชีวิตไร้อิสรภาพในเกาหลีเหนือ
วันที่ 19 ตุลาคม 2557 เดลี่เมล รายงานว่า ยองมี ปาร์ค สาวชาวเกาลีเหนือวัน 21 ปี ได้ขึ้นกล่าวบนเวที วัน ยัง เวิลด์
ซัมมิท 2014 (One Young World Summit 2014) ที่กรุงดับลิน ของไอร์แลนด์ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตก่อนจะได้มี
อิสรภาพอย่างเช่นทุกวันนี้
ยองมีเผยว่า ในเกาหลีเหนือทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ที่นี่แบนทั้งการใช้อินเทอร์เน็ต การฟังเพลง
การอ่านหนังสือ การโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และการออกเสียงแสดงความคิดเห็น โทรทัศน์มีออกอากาศอยู่เพียง
ช่องเดียว และหากมีหนังฉายก็จะเป็นหนังชวนเชื่อสร้างความภักดีต่อผู้นำเท่านั้น เธอไม่เคยรู้จักหนังรักระหว่าง
ชายหญิงเลยตลอดเวลาที่เติบโตขึ้นมาที่นั่น
ความทรงจำหนึ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการถูกเชิญไปดูการยิงเป้านักโทษซึ่งเป็นแม่ของเพื่อนเธอเอง และความผิด
ที่ทำให้ต้องถูกประหารชีวิตนี้ เพียงเพราะเธอแอบดูหนังของฮอลลีวูดเท่านั้น
ผู้คนที่เกาหลีเหนือมีชีวิตอยู่ด้วยความเคร่งเครียด หวาดกลัวการถูกลงโทษหากเผลอกระทำผิด โดยเฉพาะ
การวิจารณ์ผู้นำประเทศ จะมีโทษทำให้ครอบครัว 3 ชั่วโคตรต้องติดคุก ถูกทรมาน หรือถึงขั้นประหารชีวิต
ในที่สุดครอบครัวของยองมีก็ตัดสินใจเสี่ยงตายหนีออกจากดินแดนแห่งนี้ ทั้งหมดเดินเท้าข้ามทะเลทรายโกบี
โดยมีเพียงเข็มทิศนำทาง และเมื่อมันพังไปก็ได้แต่เดินตามดวงดาว ซึ่งเธอเรียกมันว่า “ดวงดาวแห่งเสรีภาพ”
ระหว่างทางนั้นเธอต้องสูญเสียบิดา เธอแอบฝังศพเขาอย่างเงียบ ๆ ไม่มีเวลาแม้แต่จะร้องไห้ เพราะกลัวว่า
จะมีคนตามมาจับเธอกลับไปเกาหลีเหนืออีก
จวบจนวันนี้ ยองมีได้ครอบครองเสรีภาพดังที่เธอปรารถนามาตลอด เสรีภาพที่จะได้ใช้ชีวิตตามที่ตนได้เลือกเดินเอง
เธอกลายเป็นนักพูดในฐานะชาวเกาหลีเหนือผู้ได้รับอิสรภาพ และพยายามเรียกร้องสิ่งนี้ให้กับเพื่อนร่วมแผ่นดิน
คนอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าหนทางความเป็นไปได้จะริบหรี่แค่ไหนก็ตาม
“เราต้องใส่ใจเรื่องระบอบการปกครองให้น้อยลง แล้วสนใจความเป็นอยู่ของผู้คนที่ถูกลืมเหล่านี้ให้มากขึ้น
เพราะมีเพียงพวกเราที่จะทำให้เขามีตัวตนขึ้นมาได้” เธอกล่าว