ที่หอประชุม สมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 13 ตำบลสระกรวด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดกิจกรรม “วันรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น” ในโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ประจำปี 2561 โดยมีนายอำนาจ ปาลาส เกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานเปิดงาน“วันรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น” มุ่งเน้นนำร่องชาวไร่อ้อยจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอศรีเทพ ทั้ง 7 ตำบล พบว่ามีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย มากกว่า 100,000 ไร่ ของภาพรวมทั้งจังหวัด ราว 400,000 ไร่ โดยจัดฐานกิจกรรมให้ความรู้แก่เกษตรกร รวม 4 ฐาน ประกอบด้วย ฐานที่ 1 การจัดการดินให้เหมาะสมในปลูกพืช/การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ฐานที่2 การผลิตศัตรูธรรมชาติ ฐานที่3 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย/สาธิตการอัดฟ่อนใบอ้อย และฐานที่4 สาธิตการใช้เครื่องจักรกลคลุกใบอ้อย
หลังจาก สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ตระหนักว่าจังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ทำการเกษตร ประมาณ 3.8 ล้านไร่ มีเศษเหลือของวัสดุทางการเกษตรเหล่านี้ ซึ่งมีส่วนประกอบของธาตุอาหารพืช และอินทรียวัตถุที่เป็นประโยชน์ต่อพืช แต่เกษตรกรยังขาดการจัดการที่เหมาะสม มีการเผาทิ้งหลังจากการเก็บเกี่ยว เพื่อที่จะช่วยให้การไถพรวนทำได้ง่ายขึ้น เก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้น ซึ่งการกระทำดังกล่าว นอกจากจะทำให้เกิดการสูญเสีย อินทรียวัตถุและแร่ธาตุอาหารในดินแล้ว ยังทำให้โครงสร้างดินเปลี่ยนแปลง เนื้อดินจับตัวแน่นและแข็ง ทำลายจุลินทรีย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตในดิน และแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จึงได้มุ่งเน้นจัดกิจกรรมรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ซึ่งพบว่ามีอัตราการเผาอ้อย สูงถึง 68% เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้รู้ถึงประโยชน์จากการไม่เผา ,ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุและแร่ธาตุอาหารในดิน ,ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ ลดปัญหาหมอกควัน และลดปัญหาโลกร้อน
ด้าน นายถนอม โพธิกุล นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สมาคมฯได้รณรงค์ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย ลดการเผามาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทำให้เกษตรกรยังคงใช้วิธีดังกล่าวอยู่ โดยมีอัตราการเผาอ้อย อยู่ที่ 68% ล่าสุดได้ส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อย ลดการเผา โดยหันมาใช้วิธีคลุกใบอ้อยหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ช่วยลดต้นทุนการผลิต และส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อย หันมาเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ ด้วยการอัดฟ่อนใบอ้อย ส่งขายในราคาตันละ 700 บาท โดยได้รับการสนับสนุนจากโรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม เปิดรับซื้อใบอ้อยอัดฟ่อน ในปีนี้ มากถึง 5,000 ตัน เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิต
ทั้งนี้ หากเกษตรกรชาวไร่อ้อย หันมาตัดอ้อยโดยไม่ใช้วิธีเผาไฟ นอกจากจะขายอ้อยได้ราคาดีแล้วนั้น เศษใบอ้อยที่หลงเหลืออยู่ในไร่ จะสามารถนำมาอัดฟ่อนใบอ้อย ส่งขายได้ราคาตันละ 700 บาท ซึ่งการปลูกอ้อย 1 ไร่ จะตัดอ้อยได้เฉลี่ย 12-15 ตัน/ไร่ โดยอ้อย 1 ตัน จะได้ใบอ้อยเฉลี่ย 8-9 กิโลกรัม ซึ่งอ้อย 1 ไร่ จะสามารถอัดฟ่อนใบอ้อย ได้ประมาณ 1 ตันกว่า ช่วยให้เกษตรกร มีรายได้เพิ่ม อีกทางหนึ่งด้วย
ราเมธ บงแก้ว /มนสิชา คล้ายแก้ว ผู้สื่อข่าวจังหวัดเพชรบูรณ์