ผู้สื่อข่าวจังหวัดลพบุรี รายงานว่า นายสุปกิต โพธิปภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ขอเชิญร่วมกันตามรอยละครบุพเพสันนิวาส ซึ่งเป็นเรื่องราวของอดีตในสมัยกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์ โดยพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นพระราชวังโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีความสำคัญและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมแสดงถึงความรุ่งเรืองสูงสุดสมัยหนึ่งของเมืองลพบุรี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พื้นที่ภายในพระราชวังแบ่งออกเป็น ๓ เขต คือ เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน มีพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างดังนี้เขตพระราชฐานชั้นนอก มีสิ่งก่อสร้าง ๕ หลัง คือ อ่างเก็บน้ำประปา เป็นที่เก็บน้ำใช้ภายในพระราชวัง เก็บน้ำที่ไหลจากอ่างซับเหล็กตามท่อดินเผามายังพระราชวัง และส่งต่อไปใช้ตามตึกต่างๆ สิบสองท้องพระคลัง สันนิษฐานว่าเป็นพระคลังเก็บสินค้าหรือสิ่งของเพื่อใช้ในราชการ ตึกเลี้ยงรับรองแขกเมือง เป็นสถานที่เลี้ยงต้อนรับคณะราชฑูตต่างประเทศ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดพระราชทานเลี้ยงแก่คณะราชทูตเชอร์วาเลีย เดอ โชมองต์ จากประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.๒๒๒๘ ตึกพระเจ้าเหา สันนิษฐานว่าเป็นหอพระประจำพระราชวัง ชื่อพระเจ้าเหา หมายถึง พระพุทธรูปเก่าแก่สำคัญที่ประดิษฐานอยู่ภายในตึกนี้ โรงช้างหลวง เป็นที่อยู่ของช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและเจ้านายสำหรับใช้ในราชการเสด็จประพาสป่าล่าสัตว์และที่พักของควาญช้างและผู้ดูแลช้างเขตพระราชฐานชั้นกลาง มีสิ่งก่อสร้าง ๒ หลัง คือ พระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นที่ประทับออกว่าราชการแผ่นดินและประชุมองคมนตรี พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท เป็นที่เสด็จออกต้อนรับคณะราชทูตต่างประเทศ เขตพระราชฐานชั้นใน มีสิ่งก่อสร้าง ๑ หลัง คือ พระที่นั่งสุธาสวรรค์ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในปัจจุบันจะเห็นฐานอาคารขนาดใหญ่ มีเกยสำหรับทรงเสลี่ยงหรือทรงม้า สภาพเดิมถูกบันทึกว่า มุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีสระน้ำ ๔ สระ มีเขาจำลองและปลูกพันธุ์ไม้ ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุภายในพื้นที่ ๓ อาคาร คือ .พระที่นั่งจันทรพิศาล สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดิมใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับประชุมเสนาบดี หลังจากถูกทิ้งร้างไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระที่นั่งขึ้น ใช้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร แสดงภาพประวัติศาสตร์ และโบราณวัตถุที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้รวบรวมสิ่งของที่ใช้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ภาพวาดรูปเหมือน หมื่นสุนทรเทวา ขุนศรีวิศาลวาจา ภาพคณะราชทูตฝรั่งเศสมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ ภาพคณะทูตไทยเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยที่14. หลังจากชมละครบุพเพสันนิวาส คงจะได้ยินตำราเรียนในสมัยอยุธยา ชื่อว่า จินดามณี กันมาแล้ว ซึ่งเด็กวัยรุ่นสมัยนี้แทบจะไม่มีใครเห็น ซึ่งในปัจจุบันเรื่องของการศึกษาก็พัฒนาไปไกล มีการผสมสานของเทคโนโลยีและบูรณาการเรียนแบบใหม่ๆ เข้ามาสอนมากมาย ซึ่งแตกต่างกับการเรียนในสมัยก่อน เรียนวิชาต่างๆ ผ่านหนังสือเรียน มีความทรงจำ มีกลิ่นอายของความเป็นไทยแท้ๆ อยู่แบบเรียนเล่มแรกของไทย ชื่อ จินดามณี แต่งโดย พระมหาราชครู กวีในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ปี พ.ศ 2199 – 2231). ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมมาอีกว่า. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ตามกระแสละครเรื่องบุพเพสันนิวาสเป็นจำนวนมาก วันนี้จึงขอนำภาพเมื่อครั้ง ทีมงานละครมาทำพิธีบวงสรวงสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกันที่พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทมาให้ทุกท่านได้ชมกัน
พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทเป็นพระที่นั่งที่มีรูปแบบงานศิลปกรรมที่ผสมระหว่างตะวันออกและตะวันตกไว้ได้อย่างลงตัว ประกอบไปด้วยอาคารทรงมณฑป และอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อยื่นออกมาข้างหน้า บันทึกของนิโกลาส์ แชร์แวส ระบุว่า ภายในพระที่นั่งหลังนี้ประดับประดาไปด้วยกระจกเงาสวยงามยิ่ง
พระนารายณ์ราชนิเวศน์ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครในเรื่องบุพพเพสันนิวาสอีกมากมาย ครั้งต่อไปจะพาไปเที่ยวบ้านของหลวงสุระสาคร(คอนสแตนติน ฟอลคอน )(รับบทโดยคุณหลุยส์ สก็อต) จะเป็นอย่างไรนั้นอย่าลืมติดตาม ตามรอยบุพเพสันนิวาส
บ้านวิชาเยนทร์ เมืองลพบุรี
ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หากไม่บอกก่อนหลายคนก็คงคิดว่าที่นี่คือวัดเก่า… แต่ความจริงแล้วเศษซากโบราณสถานเหล่านี้คือบ้านวิชาเยนทร์ หรือ บ้านหลวงรับราชทูต ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้ต้อนรับคณะทูตจากประเทศฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และคุณคงเคยได้ยินชื่อท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์) เจ้าของต้นตำรับขนมหวานในไทยทั้งทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง หม้อแกง นี่แหละคือบ้านพักที่เมืองลพบุรีของเธอกับสามี เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) สมุหนายกชาวกรีก ประวัติอันน่าสนใจของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์กับท้าวทองกีบม้าซึ่งจบลงอย่างน่าเศร้า พร้อมกับการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์ บ้านวิชาเยนทร์ในปัจจุบันเป็นโบราณสถานซึ่งอยู่ในรั้วรอบขอบชิด มีประตูเปิด-ปิด ภายในยังมองเห็นโครงสร้างแบ่งเป็นสามส่วนคือบ้านพักรับรองเหล่าคณะทูต บ้านพักของพระยาวิชาเยนทร์และท้าวทองกีบม้า กับตรงกลางคือโบสถ์ศาสนาคริสต์ซึ่งถือเป็นหลังแรกของโลกที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมยุโรปยุคเรเนซองส์ผสมกับสถาปัตยกรรมไทย
: อยู่บนถนนวิชาเยนทร์ ห่างจากเทวสถานปรางค์แขกประมาณ 200 เมตร เปิดทุกวัน 8.30-17.00 น.
ใจรัก วงศ์ใหญ่ ข่าว/ สมชาย เกตุฉาย ภาพ/ ศูนย์ข่าว 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี