จัดวันสหกรณ์แห่งชาติครบรอบ 102 ปี น้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย
ที่สหกรณ์การเกษตรอำเภอบ้านหมอ จ.สระบุรี นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีเป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สดถวายสักการะพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งสหกรณ์ไทย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคี ความเข้มแข็งของระบบสหกรณ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสระบุรี ข้าราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน เข้าร่วมพิธี
สำหรับกิจกรรมวันสหกรณ์แห่งชาติ ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาคุณขององค์ผู้ให้กำเนิด “สหกรณ์” กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งสหกรณ์ไทย ผู้ปูพื้นฐานและทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่และจัดตั้งขยายกิจการสหกรณ์
วันสหกรณ์แห่งชาติ ถูกกำหนดขึ้นให้ตรงกับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจากเป็นวันที่สหกรณ์แห่งแรกในประเทศไทย คือ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ ที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ได้รับการจดทะเบียนจากกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (นายทะเบียนสหกรณ์ในขณะนั้น) เป็นนายทะเบียนสหกรณ์พระองค์แรกของไทย ซึ่งเป็นนิติบุคคลสหกรณ์แห่งแรกในสยามประเทศ ทั้งนี้ สหกรณ์ ถือกำเนิดในช่วงปลายสมัยรัฐกาลที่ 5 ขณะนั้นอาชีพหลักของประเทศเกษตรกรรมอย่างประเทศไทย คือการทำนา เมื่อมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ระบบเลี้ยงตัวเองในชนบท มาสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า ความต้องการเงินทุนเพื่อขยายการผลิตและการครองชีพเพิ่มมากขึ้น แต่เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในฐานะยากจน ขาดแคลนเงินทุน จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินจากพ่อค้านายทุน “คหบดี” ซึ่งมักถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้กู้ยืมเหล่านี้ทุกวิถีทาง
ด้วยเหตุนี้ การสหกรณ์ในประเทศไทย จึงเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2459 โดยตั้งสหกรณ์ประเภทหาทุน ซึ่งในระยะแรกเป็นช่วงการทดลองดำเนินการไปอย่างช้า ๆ จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2470 ก็ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์ประเภทนี้ขึ้นมาอีก 81 สมาคม ตั้งอยู่ใน 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก ลพบุรี และอยุธยา โดยมีเงินทุนให้กู้ยืม 300,000 บาทเศษ ต่อมาอีก 1 ปี จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ และจัดหาทุนมาให้กู้ยืมมากขึ้น หลังจากนั้น 5 ปี ได้มีการขยายสาขาออกไปอีก 7 จังหวัด
ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การสหกรณ์ ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสหกรณ์ มีการจัดตั้งสหกรณ์ประเภทอื่น ๆ ขึ้น เช่น สหกรณ์ออมทรัพยณ์ สหกรณ์ที่ดิน ร้านสหกรณ์ ต่อมาสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ขยายงานสหกรณ์จากระดับกรมขึ้นมาเป็นระดับกระทรวง เมื่อปี พ.ศ. 2495 แต่หลังจากปี พ.ศ. 2497 กระทรวงสหกรณ์ถูกยุบไปรวมกับกระทรวงการพัฒนาการแห่งชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 มีการยุบกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ทำให้กรมสหกรณ์ที่ดิน กรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ และสำนักงานปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเดิม ถูกยุบมารวมเป็น “กรมส่งเสริมสหกรณ์” เพียงกรมเดียว ขึ้นกับกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา
/ภาพข่าว ดำรงค์ ชื่นจินดา หนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพสระบุรีรายงาน