ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่ามีเกษตรกรท่านหนึ่ง มีแนวคิดยุคใหม่ หันปรับใช้พื้นที่โดยรอบตัวบ้าน ทำการเลี้ยงวัวไว้จำนวนหนึ่ง และนำเอามูลวัวที่ได้ในแต่ละวัน มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการนำมาเพาะเลี้ยงไส้เดือน เพื่อให้ได้ปุ๋ยมูลไส้เดือน ก่อนนำไปใส่พืชผักสวนครัว เกษตรปลอดภัยไร้สารเคมี บางส่วนก็แบ่งจำหน่ายให้แก่เพื่อนบ้าน และผู้ที่สนใจในราคาเป็นกันเอง
จึงเดินทางไปตรวจสอบ บ้านเลขที่ 143 หมู่ที่ 6 บ้านเนินมะค่า ต.วังโป่ง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ พบกับนายสมาน หลวงจันทร์ อายุ 51 ปี เจ้าของบ้าน เปิดเผยว่า เดิมที พื้นที่รอบๆบ้านเป็นลานกว้าง มีหญ้าขึ้นปกคลุมเป็นจำนวนมาก จึงคิดนำวัวเนื้อพันธ์ผสมเลือดยุโรป จำนวน 23 ตัว มาเลี้ยงเพื่อส่งขายบริษัทฯ โดยปล่อยให้หากินหญ้าในพื้นที่รอบบริเวณบ้าน และให้อาหารเสริมในช่วงตอนเย็นขณะอยู่ในคอก โดยแต่ละวัน ตนจะต้องคอยเก็บกวาดมูลวัวอยู่เสมอ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก
ซึ่งจากเหตุนี้ ตนจึงมีแนวคิดว่า จะสามารถนำมูลวัวที่มีอยู่ไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์ขึ้นมาได้บ้าง ประกอบกับ การเลี้ยงวัว มักใช้ระยะเวลานานกว่า 8 เดือน ถึง 1 ปี ถึงจะจับขายได้ จึงลองค้นคว้าหาแนวทางใช้ประโยชน์จากมูลวัว กระทั่งไปเจอวิธีการเลี้ยงไส้เดือน พันธ์AF1 จึงได้สั่งซื้อแม่พันธ์ไส้เดือนพันธ์AF1 ในราคากิโลกรัมละ 300 บาท โดยสั่งซื้อมาช่วงแรกจำนวน 20 กิโลกรัม สามารถขยายเลี้ยงไส้เดือน ได้ถึง จำนวน 40 กะละมัง โดยมีวัตถุดิบหลักที่สำคัญ คือ มูลวัว ในคอกที่เลี้ยงไว้ ซึ่งไม่มีต้นทุนแต่อย่างใด ก่อนนำมาต่อยอดใช้เลี้ยงไส้เดือน เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพดี โดยเริ่มจากนำมูลวัวมาแช่น้ำไว้ เพื่อลดความร้อนและแก๊ส ให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของไส้เดือน จากนั้นตักใส่กะละมังที่เตรียมไว้ แล้วปล่อยแม่พันธ์ไส้เดือนลงไปเลี้ยง ใช้เวลาประมาณ 25-30 วัน ก็จะได้มูลไส้เดือนเป็นเม็ดเล็กๆ แล้วจึงทำการคัดแยกตัวไส้เดือนออกมา ก่อนนำมูลไส้เดือนไปใส่เครื่องร่อน ก็จะได้เป็นปุ๋ยมูลไส้เดือนพร้อมใช้นำไปใส่พืชผลทางการเกษตร และบางส่วนตนได้แบ่งใส่ถุง จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 15 บาท
พร้อมกันนั้น หลังจากสามารถผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน คุณภาพดีได้แล้ว ตนจึงคิดต่อยอดความสำเร็จดังกล่าว โดยใช้พื้นที่ว่างรอบบ้าน ทำแปลงผักเกษตรอินทรีย์ ด้วยการทดลองปลูก มะเขือเทศราชินี กะหล่ำดาว ต้นหอม ผักชี คะน้า กระเพรา ฯ ซึ่งผลปรากฎว่า พืชผักทั้งหมดที่ใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือน มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว สมบูรณ์ ให้ผลผลิตดี ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตแล้วนั้น สิ่งสำคัญคือ ผู้บริโภคยังมีความปลอดภัย ไร้สารเคมีตกค้าง อีกทางหนึ่งด้วย
เดชา มลามาตย์/มนสิชา คล้ายแก้ว ผู้สื่อข่าวจังหวัดเพชรบูรณ์