เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 10.00 น. ลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีส่งมอบการสนับสนุนโรงเรียนด้อยโอกาส จ.ปทุมธานี ในโครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนที่ด้อยโอกาส ปี 2560 ให้แก่โรงเรียนวัดบ้านพร้าวใน โรงเรียนบึงเขาย้อน และโรงเรียนวัดจุฬาจินดาราม จ.ปทุมธานี โดยมีดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายพงศธร สัจจชลพันธ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายไพรัตน์ ลิ่มสกุล นายอำเภอสามโคก นายเสวก ประเสริฐสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงรากใหญ่ นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทีทีดับบลิว และข้าราชการ ประชาชน ครู นักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ ที่โรงเรียนวัดบ้านพร้าวใน ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
โครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนที่ด้อยโอกาส มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนที่ด้อยโอกาสให้นักเรียนมีหลักโภชนาการที่ดีมีการเสริมสร้างสุขภาพอนามัย มีการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการศึกษา รวมทั้งมุ่งเน้นให้เกิดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ดีต่อการใช้ชีวิตของนักเรียน โดยรัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ซึ่งถือเป็นกลไกใน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดศักยภาพและมีความพร้อมในการเข้าสู่สังคมปัจจุบัน ซึ่งมีการแข่งขันสูงและมีความท้าทายในทุกมิติ โดยได้ส่งมอบการติดตั้งตะแกรงช่องลมห้องเรียน ปรับปรุงห้องเอนกประสงค์ สนามหญ้า สนามเด็กเล็ก สนับสนุนเครื่องเล่น ตู้กดน้ำดื่ม และอุปกรณ์การเกษตร
ด้านพลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้มุ่งเน้นให้เกิดการปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อให้คนไทยทุกวัยได้รับโอกาสใส การเสริมสร้างสมรรถนะของตน เพื่อก้าวสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ตามที่ตนใฝ่ฝัน ปัจจุบันพบว่าสถานศึกษาหลายแห่งยังขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคและระบบสาธารณสุข เกิดความเหลื่อมล้ำและขาดโอกาสในการได้รับบริการจากรัฐอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคประชาสังคม และหน่วยงานอื่นๆ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างอนาคตของชาติร่วมกัน
การดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ ได้มีจังหวัดปทุมธานี หน่วยงานรัฐและเอกชน รวมถึงชุมชนในพื้นที่เข้าร่วมให้การสนับสนุนให้บรรลุผลสำเร็จ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ต้องการพัฒนาโรงเรียนให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม นักเรียนมีคุณภาพชีวิต สุขภาพกาย และใจที่ดีขึ้น มีจิตสาธารณะ รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงระบบการศึกษาด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นแบบอย่างเพื่อการขยายผลแก่โรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป
ส่วน นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทีทีดับบลิว กล่าวว่า TTW ได้รับเกียรติและความไว้วางใจจากรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง ให้เข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนหลักโครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนที่ด้อยโอกาสต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยในปี 2560 โดยบริษัทฯ ได้พิจารณาคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัดบ้านพร้าวใน โรงเรียนบึงเขาย้อน และโรงเรียนวัดจุฬาจินดาราม จังหวัดปทุมธานี ซึ่งทั้ง 3 โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่ง TTW หวังเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนให้มีความเหมาะสม มีหลักโภชนาการที่ดี มีการเสริมสร้างสุขภาพอนามัย พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการศึกษา รวมทั้งมุ่งเน้นให้เกิดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ดีต่อการใช้ชีวิตของนักเรียนในโรงเรียน นอกจากนี้ TTW ได้นำตะกอนน้ำประปาจากกระบวนการผลิตของโรงผลิตน้ำประปาปทุมธานีจำนวน 1,386 ลบ.ม. (เทียบเท่าความจุของรถบรรทุก 6 ล้อ จำนวน 100 คัน) มาใช้ประโยชน์ ด้วยการนำมาถมบริเวณสนามหญ้าของโรงเรียนวัดบ้านพร้าวใน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงกับโรงผลิตน้ำประปาปทุมธานีของบริษัทฯ ซึ่งตะกอนน้ำประปาดังกล่าวสามารถช่วยลดปัญหาพื้นที่ราบลุ่มและมีน้ำท่วมขังของโรงเรียนฯ ให้กลับมามีภูมิทัศน์ที่ดี และมีความปลอดภัยต่อเด็กนักเรียน
สำหรับโครงการวิจัยและนำตะกอนน้ำประปาที่เหลือจากกระบวนการผลิตฯ มาใช้ประโยชน์นั้น TTW ได้ร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาและ ทำการวิจัยดินตะกอนน้ำประปาที่เหลือจากกระบวนการผลิตของโรงผลิตน้ำประปาปทุมธานีมาตั้งแต่กลางปี 2560 เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยมีผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยแล้ว เช่น เม็ดดูดซับฟลูออไรด์ (ทดแทนผงถ่านในขั้นตอนกวนเร็วของกระบวนการผลิตน้ำประปา) อิฐบล็อกประสาน (ทดแทนดินลูกรัง) กระเบื้องปูพื้น (ทดแทนทราย) และกระเบื้องดินเผา (ทดแทนดินเหนียว) เป็นต้น และในปี 2561 TTW ได้ร่วมมือกับโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา และภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาโครงการฯ ลักษณะเดียวกันในฝั่งของโรงผลิตน้ำประปาบางเลน จ.นครปฐม โดยโครงการฯ ทั้ง 2 พื้นที่จะสามารถต่อยอดด้วยการสร้างอาชีพแก่ชุมชนใกล้เคียงโรงผลิตน้ำประปาในลักษณะการพัฒนาเชิงสังคมในรูปแบบของการสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างองค์กรกับสังคมและชุมชน (Creating Shared Value : CSV) ซึ่งจะเห็นได้ว่านอกจากจะสามารถนำตะกอนน้ำประปาที่เป็นของเหลือไปใช้ประโยชน์ได้แล้ว ยังเป็นการสร้างความผูกพันร่วมกันให้เกิดขึ้นในชุมชนใกล้เคียงโรงผลิตน้ำประปาของ TTW อีกทางหนึ่งด้วย
ภาพ/ข่าว ขวัญชัย วาจาพารวย รายงาน