วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 9.30 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี พร้อมคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดินทางไปติดตามและร่วมประชุมเพื่อรับฟังสรุปผลปัญหา อุปสรรคการดำเนินงานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยบอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกับติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี และเยี่ยมราษฎรผู้รับประโยชน์จากโครงการฯ
โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยบอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานีเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2539 ตามที่นายบุญเหลือ จันทรภักดี อดีตผู้ใหญ่บ้านวารีอุดม หมู่ที่ 1 ตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ขอพระราชทานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากความแห้งแล้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอนในลักษณะของโครงการชลประทานขนาดกลางขนาดความจุ 6,440,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อให้สามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูฝน 5,500 ไร่ ฤดูแล้ง 700 ไร่ แต่เนื่องจากบริเวณพื้นที่บ้านน้ำยืน หมู่ที่ 6 ตำบลโซง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ติดปัญหาพื้นที่ ใน 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายลำโดมใหญ่ พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม และพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จึงอยู่ระหว่างดำเนินการ โอกาสนี้ องคมนตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อเร่งรัด และขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการฯ ให้แล้วเสร็จเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาให้กับราษฎรได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อสนองพระราชกระแสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนในครั้งนี้
จากนั้นเวลา 13.30 น. องคมนตรี และคณะฯ ได้เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2528 ด้วยทรงเล็งเห็นประโยชน์จากพื้นที่เนื่องจาก ห้วยพลาญเสือ เป็นลำห้วยในลุ่มน้ำโดมใหญ่ มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูงบริเวณชายแดนรอยต่อ 3 ประเทศ (สามเหลี่ยมมรกต) ไหลมารวมกับห้วยบอนและห้วยโปร่งลิง และลำห้วยผึ้ง บริเวณเหนืออ่างฯ เป็นเนินเขาสูง ท้ายอ่างฯ เป็นนาสลับป่าโปร่ง จึงได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปความว่า “จะต้องทำการพัฒนาให้เข้าใกล้ชายแดนมากขึ้น จะต้องเข้าไปถึงในที่ที่จะทำให้สามารถสร้างหมู่บ้านตามชายแดน ซึ่งจะเป็นส่วนที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศได้มากขึ้น ตามแผนที่นั้นมีแห่งหนึ่งที่เป็นช่องเห็น ได้ชัด คือ ช่องบก ในเขตอำเภอน้ำยืน ในบริเวณนี้จะมีห้วย 2 ห้วย มาบรรจบกัน เราก็สามารถกั้นอ่างเก็บน้ำสูงประมาณ 10 เมตร ถ้าทำระบบให้ดีก็สามารถเลี้ยงพื้นที่ได้ถึง 10,000 ไร่” ต่อมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ขนาดความจุ 33.50 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำ ประกอบด้วยคลองส่งน้ำ 1 สาย และสายซอย 7 สาย รวมความยาว 27.81 กิโลเมตร และอาคารประกอบในคลองรวม 214 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2532 ปัจจุบันมีพื้นที่รับประโยชน์รวม 6,850 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 6,423 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 หมู่บ้าน จำนวน 717 ครัวเรือน ในอำเภอน้ำยืน และอำเภอนาจะหลวย มีน้ำสำหรับทำการเพาะปลูกทั้งฤดูฝนและฤดูแล้งและสำหรับการอุปโภคบริโภค เลี้ยงสัตว์ และทำการประมงได้ตลอดปี และมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกคน โดยมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำจำนวน 1 กลุ่ม มีสมาชิก 548 ราย มีการบริหารและควบคุมการส่งน้ำและจัดทำสถิติด้านอุทกศาสตร์ การเกษตร ตลอดจนส่งเสริมกิจกรรมต่อเนื่องขององค์กรผู้ใช้น้ำชลประทานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังก่อเกิดประโยชน์ทางด้านความมั่นคงในพื้นที่ตามแนวชายแดนบริเวณรอยต่อ 3 ประเทศ (ไทย ลาว และกัมพูชา) และพื้นที่ใกล้เคียง ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2559 ได้ปรับปรุงการเก็บกักน้ำจากปริมาณน้ำจากความจุ 33.50 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 41.00 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยติดตั้งบานระบายน้ำแบบพับได้ลงบนสันฝายแบบ Chute Spillway เดิมพร้อมระบบควบคุมการเปิด – ปิดบานระบายน้ำ ดำเนินการแล้วเสร็จสิงหาคม 2560 ส่งผลให้พื้นที่ทั้งหมดของโครงการ
ภาพข่าว/รายงานโดย : ณะรินทร์ศาล์ งามวงศ์ ศูนย์ข่าว 5 เหล่าทัพ จ.อุบลราชธานี