ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับทุกชุมชนในปัจจุบัน หนีไม่พ้นเรื่องขยะ เพราะจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น แต่ชาวบ้านตำบลแมด อ.บุณฑริก จ.อุบลฯ ตั้ง“ธนาคารขยะ 4 แห่ง” สร้างชุมชนป้องกันปัญหาขยะด้วยพลังชุมชน
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ตำบลบ้านแมด อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ก็ประสบกับปัญหาขยะล้นชุมชนเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนขาดความรู้และขาดแนวทางการจัดการขยะที่ถูกต้อง และไม่มีระบบบริหารจัดการเรื่องขยะเลย จึงเป็นโอกาสสำคัญของชาวบ้านตำบลบ้านแมด อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยเหตุนี้เองทางองค์การบริหารส่วนตำบลแมด จึงได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความตระหนักและเกิดปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การจัดการขยะที่ถูกต้อง ตลอดจนลดปริมาณขยะในชุมชน นำไปสู่ชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่
นายดนตรี เจริญสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแมด อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี กล่าวว่าขยะเริ่มจากครัวเรือน การรวมกลุ่มดูแลบ้านเรือนของตัวเองให้ปลอดจากขยะถือเป็นการใช้ขยะมาเป็นพลังให้เกิดความรักความสามัคคี โดยการนำชาวบ้านเดินทางไปเรียนรู้ศึกษาดูงานการจัดการขยะในครัวเรือนและการใช้ประโยชน์จากขยะเช่น การสาธิต นำเศษผักหรือเศษอาหารไปทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้กับรดพืชผักไร่สวน จากนั้นได้นำความรู้มาถ่ายทอดกับชาวบ้านในชุมชน เกิดการรวมกลุ่มจัดตั้งธนาคารขยะขึ้น ซึ่งหลังจากเริ่มโครงการชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ประชาชนคนในชุมชนให้ร่วมมือและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ธนาคารขยะของตำบลแมดทั้ง 4 แห่งจะเป็นศูนย์กลางคัดแยกขยะและรับซื้อขยะในทุกวันที่ 14 ของทุกเดือน
นายดนตรี เจริญสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแมด กล่าวเพิ่มเติมว่าผลจากการตั้งธนาคารขยะ 4 แห่งของตำบลบ้านแมด จาก 12 หมู่บ้าน ปัจจุบันพบว่าหมู่บ้านสะอาดปราศจากขยะ ปริมาณมลพิษทางน้ำลดลง แหล่งน้ำในชุมชนสะอาด ชุมชนน่าอยู่ ประชาชนมีความรู้ ความตระหนัก และเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การจัดการขยะที่ถูกต้อง โดยหันมาใช้วิธีการคัดแยกขยะ และทำปุ๋ยหมักแทนการเผาทำลายเกิดการจัดการขยะอย่างถูกวิธี และมีการคัดแยกขยะ การทำปุ๋ยหมักจากขยะ ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการก่อตั้งธนาคารขยะได้ 6 เดือนถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก องค์การบริหารส่วนตำบลแมด ไม่มีรถเก็บขยะ ไม่มีถังรองรับขยะ แต่ชุมชนสะอาดปราศจากขยะ ธนาคารขยะของตำบลแมดเป็นต้นแบบที่มีหลายหน่วยงานได้เริ่มสนใจเดินทางมาศึกษาดูงาน
ด้าน นายกรุงสมัย จันทะเกษ ผู้จัดการธนาคารขยะบ้านหนองขามใหญ่ หมู่ที่ 6 กล่าวว่า ชาวบ้านรู้แล้วว่าขยะเริ่มจากครัวเรือน และส่งผลกระทบต่อชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งการรวมกลุ่มดูแลบ้านเรือนของตัวเองให้ปลอดจากขยะถือเป็นการใช้ขยะมาเป็นพลังให้เกิดความรักความสามัคคี เช่น เกิดธนาคารขยะ เกิดกิจกรรมโครงการขยะทอง คุ้มครองชีวิต เกิดการรวมกลุ่มนำขยะที่สามารถรีไซเคิลแล้วเอาไปขายเพื่อสร้างรายได้ในระดับหมู่บ้าน นับว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่า ขยะเกิดขึ้นมาจากทุกคนเมื่อทุกคนช่วยกันปัญหาขยะก็จะหมดไป
ภาพข่าว/รายงานโดย : ณะรินทร์ศาล์ งามวงศ์ ศูนย์ข่าว 5 เหล่าทัพ จ.อุบลราชธานี