กระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์ปฏิบัติการยุติวัณโรคแห่งชาติ เขตสุขภาพที่ 10 ขับเคลื่อนการดำเนินงานและประสานความร่วมมือด้านวัณโรค ใน 5 จังหวัด เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาทักษะและเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบงานป้องกันควบคุมวัณโรคระดับจังหวัด ระดับอำเภอ พร้อมตั้งเป้าค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง เพิ่มอัตราการค้นพบ และเพิ่มอัตราการรักษาสำเร็จในผู้ป่วยรายใหม่ให้ได้ ร้อยละ 90 ภายในปี 2561 นี้
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จังหวัดอุบลราชธานี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมนายเธียรชัย พุทธรังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และผู้บริหารจากภาคีเครือข่าย ร่วมเปิดประชุมวิชาการศูนย์ปฏิบัติการยุติวัณโรคแห่งชาติ เขตสุขภาพที่ 10 “Kick off NOC for TB Region 10th” ประจำปี 2561
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 กันยายน 2560 เห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค พ.ศ.2560–2564 โดยมีเป้าหมายลดอุบัติการณ์ของโรควัณโรคลงร้อยละ 12.5 ต่อปี จาก 171 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2557 ให้เหลือ 88 ในปี 2564 ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันควบคุมวัณโรคเป็นวาระสำคัญ และกำหนดให้หน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการยุติวัณโรคแห่งชาติขึ้น (National Operation Center for TB) หรือ NOC-TB เพื่อลดปัญหาวัณโรคในประเทศไทย
เขตสุขภาพที่ 10 ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร และมุกดาหาร ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการยุติวัณโรคแห่งชาติในระดับจังหวัดทั้งหมดแล้ว โดยผลการดำเนินงานในปี 2560 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกประเภท 5,613 คน คิดเป็นอัตราการค้นพบร้อยละ 71 ของค่าประมาณการผู้ป่วย 7,900 คน อัตราการรักษาสำเร็จผู้ป่วยรายใหม่ ร้อยละ 86 อัตราการเสียชีวิต ร้อยละ 7 ซึ่งยังต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายการดำเนินงานวัณโรคของประเทศ
กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการยุติวัณโรคแห่งชาติ เขตสุขภาพที่ 10 ขึ้น เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานและประสานความร่วมมือด้านวัณโรค ใน 5 จังหวัด และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาทักษะ เพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบงานป้องกันควบคุมวัณโรคทั้งในระดับจังหวัด และระดับอำเภอ โดยในปี 2561 นี้ เขตสุขภาพที่ 10 ได้ตั้งเป้าหมายค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สัมผัสโรค ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ติดเชื้อเอซไอวี ผู้ป่วยเบาหวาน แรงงานข้ามชาติ และบุคลากรสาธารณสุข ให้ครอบคลุมร้อยละ 90 เพิ่มอัตราการค้นพบให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 และเพิ่มอัตราการรักษาสำเร็จผู้ป่วยรายใหม่ให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานจะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายสุขภาพทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการยุติวัณโรคแห่งชาติ ให้บรรลุตามเป้าหมายต่อไป
“ในโอกาสนี้ ขอแนะนำประชาชนว่า วัณโรคสามารถติดต่อได้จากการไอหรือจามรดกัน โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพียงรับประทานยาต่อเนื่องประมาณ 6 เดือน และให้หมั่นสังเกตอาการของตนเอง หากมีไข้ต่ำ ไอติดต่อกัน 2 สัปดาห์ เหนื่อยหอบ และน้ำหนักลด ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย หากพบว่าป่วยจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ส่วนการป้องกันโรค ทำได้โดยการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น และดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล คือ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกาย ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัสเสมหะ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ข้อมูล/ภาพ ศุภวัจน์ ศรีสูงเนิน
ทศพร ก้อนแก้ว รายงาน