อินเดียถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ของรัสเซีย (รวมทั้งอดีตสหภาพโซเวียต) มากกว่า 50 ปี ซึ่งการซื้อขายตลอดระยะเวลานี้ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกครั้งเสมอไป หนึ่งในปัญหาครั้งใหญ่ที่อินเดียพบคือ การจัดซื้อเรือบรรทุกเครื่องบิน INS Vikramaditya จากรัสเซีย
ย้อนไปเมื่อปี 1988 สหภาพโซเวียตได้ประจำการเรือบรรทุกอากาศยาน Baku แบบ Kiev class ขึ้น โดยนับเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่แสดงถึงการออกแบบที่โดดเด่น (สไตล์โซเวียต) โดยพื้นที่กว่า 1 ใน 3 บริเวณเรือถูกติดตั้งด้วยอาวุธขนาดหนักได้แก่ มิสไซล์ต่อต้านเรือรบขนาดยักษ์แบบ SS-N-12, มิสไซล์พื้นสู่อากาศนับร้อยนัด และ ปืนใหญ่ 100 มม. อีก 2 กระบอก โดยพื้นที่ส่วนที่เหลือมีไว้สำหรับอากาศยาน ซึ่งต่อมาหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายลง รัสเซียได้เปลี่ยนชื่อเป็น Admiral Gorshkov และประจำการในกองทัพเรือรัสเซีย จนมาถึงปี 1996 เกิดการระเบิดของหม้อต้มน้ำขึ้น ทำให้เรือถูกปลดประจำการ กลายเป็นกำลังสำรองไป
จนมาถึงปี 2004 อินเดียซึ่งกำลังมองหาเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่มาทดแทนเรือบรรทุกเครือ งบิน INS Viraat ของตนที่จะปลดประจำการในปี 2007 อินเดียจึงได้เซ็นสัญญาซื้อขายกับรัสเซีย โดยอินเดียจะได้รับเรือบรรทุกเครื่องบิน Admiral Gorshkov ไปแบบฟรีๆ แต่อินเดียจะจ่ายเงินมูลค่า 974 ล้านดอลลาร์ ( 31,000 ล้านบาท) เพื่อให้รัสเซียดัดแปลง และคืนสภาพเรือลำนี้ให้แก่อินเดีย
โปรเจคนี้ถือเป็นโปรเจคยักษ์ ด้วยขนาดของเรือ Admiral Gorshkov ที่มีระวางขับน้ำถึง 44,500 ตัน, อายุของเรือที่มากกว่าสิบปี และ เรือถูกจอดทิ้งไว้กว่า 8 ปีในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายในรัสเซีย ทำให้มันมีสภาพที่ย่ำแย่ยากต่อการคืนสภาพ
รัสเซียจะดัดแปลงส่วนรันเวย์ขนาดสั้นสำหรับเฮลิคอปเตอร์ให้ยาวขึ้น โดยการตัดพื้นที่ติดตั้งอาวุธบริเวณหัวเรือทิ้งทำเป็นรันเวย์ ทำให้ได้รันเวย์ยาว 900 ฟุต เพียงพอสำหรับการขึ้นลงของเครื่องบินแบบ MiG-29K
นอกจากนั้นยังต้องติดตั้งระบบเรดาร์ใหม่, ระบบหม้อต้มน้ำ, ระบบขอเกี่ยวเครื่องบิน, ลิฟท์ยกเครื่องบิน และตกแต่งภายในกว่า 2,700 ห้องใหม่ทั้งหมด รวมถึงส่วนบังคับการเรือ สำหรับอินเดียแล้วการได้เรือบรรทุกเครื่องบินใหม่ที่มีราคาน้อยกว่าพันล้าน ดอลลาร์ จะดูเหมือนฝันที่เป็นจริง และแน่นอนมันไม่มีทางเป็นจริงได้
ในปี 2007 เพียง 1 ปีก่อนกำหนดการส่งมอบ อู่ต่อเรือ Sevmash ของรัสเซียที่มีหน้าที่ซ่อมคืนสภาพเรือ Vikramaditya ได้ประกาศว่าไม่สามารถสำเร็จงานได้ตามกำหนด นอกจากนั้นยังได้เรียกร้องเงินเพิ่มอีกกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ (64,000 ล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นกว่า 2 เท่าของมูลค่าที่ตกลงกันในครั้งแรก การต่อรองนี้กินเวลาไปกว่า 1 ปีโดยไม่มีความคืบหน้า โดยผู้บริหารของ Sevmash ยังออกมากล่าวด้วยว่า อินเดียควรจะจ่ายเงินจำนวนนี้ เพราะถือเป็นราคาปกติของเรือบรรทุกเครื่องบินในสมัยนี้
อู่ต่อเรือ Sevmash ซึ่งมีความชำนาญในการสร้างเรือดำน้ำ เปิดเผยว่างานดัดแปลงนี้ยากเกินกว่าที่คาดไว้ เพราะไม่มีใครพยายามดัดแปลงเรือให้กลายเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินมาตั้งแต่ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากนั้นเรือ Vikramaditya นั้นเดิมแล้วถูกสร้างโดยอู่ต่อเรือ Nikolayev ซึ่งหลังจากโซเวียตล่มสลายการเป็นส่วนนึงของประเทศยูเครนไปแล้ว ทำให้เครื่องมือและอุปกรณ์พิเศษที่ใช้สร้างเรือลำนี้อยู่ห่างไปหลายพัน กิโลเมตร
ล่วงเลยมาจนถึงปี 2009 ก็ยังคงไม่มีทางออกสำหรับเรือบรรทุกเครื่องบิน Vikramaditya ในปี 2009 นี้อุตสาหกรรมทางทหารของรัสเซียมีมูลค่ากว่า 8,000 ล้านดอลลาร์ (256,000 ล้านบาท) ทำให้นาย Dmitri Medvedev ประธานาธิบดีรัสเซีย (ในขณะนั้น) กังวลว่าปัญหาของอู่ต่อเรือ Sevmash กับอินเดียจะทำให้ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมอาวุธของรัสเซียเสียไป
ในเวลาต่อมานาย Dmitri Medvedev ได้เข้าพบผู้บริหารของอู่ต่อเรือเจ้าปัญหาและกล่าวว่า ทางอู่ต่อเรือต้องจัดการเรื่องเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ให้เสร็จ และส่งมอบให้กับทางอินเดีย โดยเขาได้เน้นว่า “ถ้าไม่ทำตามที่พูด จะมีผลลัพธ์ที่เลวร้ายเกิดขึ้นตามมา”
ในปี 2010 รัฐบาลอินเดียตกลงจ่ายเงินเพิ่มเติมให้กับอู่ต่อเรือ โดยมูลค่ารวมเท่ากับ 2,200 ล้านดอลลาร์ (70,400 ล้านบาท) น้อยกว่าที่ถูกเรียกร้องมาตอนแรกเป็นจำนวน 2,900 ล้านดอลลาร์ (92,800 ล้านบาท)
หลังจากนั้นการทำงานของอู่ต่อเรือ Sevmash เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ โดยพวกเขาทำงานหนักขึ้นกว่า 2 เท่า และสำเร็จงานที่เหลือกว่าครึ่งภายใน 3 ปีให้หลัง โดยเมื่อปี 2012 เรือบรรทุกเครื่องบิน Vikramaditya ได้ออกทดสอบในทะเลเป็นครั้งแรก และเข้าประจำการในกองทัพเรืออินเดียเมือปี 2013 โดยรัฐมนตรีกลาโหมอินเดียถึงกับกล่าวด้วยความโล่งอกว่า พวกเขาคิดว่าจะไม่ได้เธอ (Vikramaditya) เข้ามาประจำการเสียแล้ว แต่ปัญหาก็ยังไม่จบแค่นั้น
ปัญหาที่ทุกคนกังวลคือระบบหม้อต้มน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเรือ โดยเรือ Vikramaditya ติดตั้งหม้อต้มน้ำใหม่จำนวน 8 ตัว แต่คนงานได้ตรวจพบข้อบกพร่องในหม้อต้มน้ำดังกล่าว และในการแล่นเรือจากรัสเซียมาอินเดีย ส่วนบนของหม้อต้มน้ำได้ยุบตัวลง และเกิดการแตกขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ผนังกันความร้อนคุณภาพต่ำจากประเทศจีน
นอกจากนั้นเรือ Vikramaditya ยังไม่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศ ตัวเรือติดตั้งแค่เพียงระบบ chaff และ flare สำหรับป้องกันตัวเองจากมิสไซล์ต่อต้านเรือ นอกจากนี้แล้ว Vikramaditya ไม่มีอาวุธระยะประชิดสำหรับป้องกันตัวเองแม้แต่น้อย ถึงแม้อินเดียจะสามารถติดตั้งปืนกลแบบ AK-630 gun system เพิ่มเติมได้ แต่ถ้าต้องการติดตั้งมิสไซล์ต่อต้านอากาศยาน กองทัพอินเดียจะต้องรอจนกว่าเรือ Vikramaditya ไปเข้าอู่แห้งที่รัสเซียในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยในขณะนี้มันต้องอาศัยความช่วยเหลือจากเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ NS Kolkata เพียงแต่อย่างเดียว ในการปกป้องตัวเองจากการโจมตีของเครื่องบิน หรือมิสไซล์
สำหรับอู่ต่อเรือ Sevmash หลังจากการดัดแปลงเรือ Vikramaditya เสร็จสิ้นทำให้พวกเขามีความมั่นใจในศักยภาพตัวเอง สำหรับการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินเป็นอย่างมาก และพวกเขาคาดว่าบราซิลเป็นลูกค้ารายถัดไปในอนาคต
นาย Sergey Novoselov ผู้บริหาร Sevmash กล่าวว่าเขาต้องการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินอีก . . . ซึ่งนั่นฟังดูเหมือนจะร้ายมากกว่าดี (ความเห็นผู้เขียนบทความ)
# บทความค่อนข้างยาว ถ้าแปลผิดไปบ้างก็ขออภัยด้วยครับ #
// ท่านใดพบข้อผิดพลาด รบกวนชี้แนะและแก้ไข ; FIAT//
http://www.realcleardefense.com/articles/2014/09/19/dont_buy_your_aircraft_carrier_from_russia_107449.html