วันนี้( 2 ก.พ.61) มาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่เป็นผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงประชาชนให้โอนเงิน จนทำให้มีผู้หลงเชื่อจำนวนมาก พลตำรวจเอกธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและธนาคารเจ้าของบัญชี ได้ช่วยเหลือผู้เสียหาย สามารถอายัดเงินผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงและโอนไปยังบัญชีของกลุ่มคนร้ายแล้วระงับไม่ให้สามารถถอนเงินออกไป โดยในส่วนของสน.เพชรเกษม พ.ต.อ.วุฒิชัย ไทยวัฒน์ ผกก.สน.เพชรเกษม พาผู้เสียหายที่ถูกหลอกให้โอนเงิน 85,600 บาท เจ้าหน้าที่สามารถอายัดเงินได้ 9,631 บาท เสียหายไป 75,969 บาท
ในวันนี้ พลตำรวจเอกธนิตศักดิ์ ฯได้ส่งมอบเงินที่ถูกหลอกคืนให้ผู้เสียหายเหยื่อเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 16 คน ที่สามารถยับยั้งไว้ได้ก่อนมีการถอนออก รวมมูลค่า 3,210,000 บาท เร่งตรวจสอบเส้นทางการเงินบัญชีบิดคอยน์ อายัดเงินคืนให้ผู้เสียหายพลตำรวจเอกธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกงประชาชนผ่านระบบโทรศัพท์และสื่ออิเลกทรอนิกส์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยพลตำรวจตรีสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว รับมอบเงินคืนของผู้เสียหายเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สามารถยับยั้งไว้ได้ก่อนมีการถอนออก จากนายพีระพัฒน์ อิงพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกองคดี 1 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อส่งมอบเงินคืนให้กับผู้เสียหาย 16 คน ใน 16 พื้นที่สถานีตำรวจ รวมมูลค่า 3,210,000 บาท โดยในจำนวนผู้เสียหายมีผู้สูงอายุ 2 คนและเจ้าหน้าที่สามารถอายัดเงินคืนจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้เต็มจำนวน 8 คน เนื่องจากผู้เสียหายแจ้งมายังเจ้าหน้าที่ทันที ที่ทราบว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ด้านพลตำรวจตรีสุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พบมีจำนวนเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลดลงไปมาก หลังจากที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการประสาน กสทช.ในการบล็อคเบอร์ที่แอบอ้างแสดงเบอร์เป็นหน่วยงานราชการ ส่วนการโอนเงินของเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เข้าบัญชีเงินสุกลดิจิทอล หรือ บิดคอยน์ ก็ได้มีการเรียกผู้ประกอบธุรกิจสกุลเงินดิจิทัลมาวางมาตรการการดำเนินการแล้ว โดยเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเส้นทางการเงินที่ชัดเจน เพื่ออายัดเงินทั้งหมดคืนให้กับผู้เสียหายทางด้าน ผู้อำนวยการกองคดี 1 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กล่าวเพิ่มเติมว่า รูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่กดดัน โดยตัดช่องทางการรับจ้างเปิดบัญชี แต่อย่างไรก็ตามได้ฝากเตือนประชาชน ทุกรูปแบบก็จะต้องโน้มน้าวใจให้ผู้เสียหายโอนเงินจากบัญชี ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐจะไม่ใช้วิธีดังกล่าว หากได้รับการติดต่อในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะตกเป็นเหยื่อหรือไม่ สามารถส่งข้อมูลมาให้เจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีต่อไป
สถิติการรับแจ้งเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตั้งแต่มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 จนถึงปัจจุบัน พบมีผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวน 210 คน โดยหลังเกิดเหตุแล้วรีบแจ้งทันที 88 คน เกิดเหตุแล้วแจ้งภายหลัง 122 คน รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 81 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถยับยั้งและช่วยเหลือได้แล้วทั้งสิ้นจำนวน 33 มูลค่ารวมประมาณ 15 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยอมรับว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์มักจะมีการหลอกลวงในรูปแบบใหม่ขึ้นมาตลอด ฝากเตือนประชาชนขอให้ตรวจสอบอย่างรอบคอบ หากใครตกเป็นผู้เสียหายขอให้แจ้งมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลข1155 หรือ สำนักงาน ปปง. หมายเลข 1710 เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายและเร่งอายัดเงินโดยเร็วที่สุด
//////////
ขอบคุณภาพ/ข่าว
> ทีมงานประชาสัมพันธ์ สน.เพรชเกษม
> ธีรพล ปลื้มถนอม ( นสพ.๕.เหล่าทัพ ) รายงาน