เหตุการณ์ต่างๆ ในอิรักเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อราว 3 เดือนก่อน อิรักยังเป็นประเทศที่แทบไม่มีการ
กล่าวถึงในเวทีประชุมความมั่นคง กองทัพอังกฤษถอนกำลังออกไปเมื่อปี 2011 หลังจากติดหล่มสงคราม
มานาน 8 ปี แม้แต่สหรัฐฯ ก็เคลื่อนไหวในอิรักอย่างจำกัดสุดๆ อิรักกำลังอยู่บนเส้นทางเพื่อยืนด้วยขาของ
ตัวเอง
แต่ในวันนี้ หลังจากการบุกยึดดินแดนต่างๆ อย่างรวดเร็วของกลุ่มติดอาวุธมุสลิมสุหนี่ ‘รัฐอิสลาม’ (ไอเอส) ซึ่ง
ตอนนี้ควบคุมพื้นที่ของอิรักกว่า 1 ใน 3 ส่วน และส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียนเหนือของซีเรีย ทำให้สหรัฐฯ
และชาติตะวันตกต้องหวนกลับเข้าไปในภูมิภาคแห่งนี้อีกครั้ง
โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ต้องจำใจเริ่มปฏิบัติการทางทหารในอิรักอีกครั้ง เมื่อ 8 ส.ค. ทั้งที่ประธานาธิบดีบารัค
โอบามา พยายามมาตลอดนับตั้งแต่รับตำแหน่ง เพื่อทำให้สหรัฐฯ หลุดพ้นจากสงครามในต่างประเทศ
ไม่ใช่เริ่มต้นสงครามครั้งใหม่
ในตอนนี้ เครื่องบินทิ้งระเบิด ‘เอฟ/เอ 18’ บินขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ในอ่าวเปอร์เซียร์วันละหลาย
รอบ เพื่อโจมตีกลุ่มติดอาวุธไอเอส ที่กำลังคุกคามพลเรือนผู้อพยพและเมืองเออร์บิล เมืองหลวงของชาวเคิร์ด
อากาศยานไร้พลขับของสหรัฐฯ บินทั่วอิรักวันละกว่า 50 เที่ยว เพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวกรอง เพื่อส่งต่อให้กับ
ศูนย์ปฏิบัติการของสหรัฐฯ ในอิรัก ก่อนแบ่งปันให้แก่ชาติพันธมิตร
สหรัฐฯ ยังต้องติดอาวุธให้กองกำลัง ‘เปชเมอร์กา’ ทหารของเขตปกครอง เคอร์ดิสถานในอิรัก ทั้งที่เคยหวั่น
กลัวต่อกระแสการเรียกร้องประกาศเอกราชของชาวเคิร์ด ซึ่งอาจกระจายไปทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อปกป้อง
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในเคอร์ดิสถาน เนื่องจากกองกำลังชาวเคิร์ดที่เคยมีกำลังพอสามารถคานอำนาจกับกลุ่ม
ไอเอสได้ เริ่มเสียเปรียบต้องเสียพื้นที่ปกครองไปบางส่วน เพราะกลุ่มไอเอสยึดอาวุธจำนวนมากได้จาก
กองทัพรัฐบาลอิรัก ระหว่างที่พวกเขายึดเมืองโมซูล เมืองในภาคเหนือและจากเมืองบนเส้นทางที่พวกเขา
ใช้เพื่อรุกคืบเข้าใกล้กรุงแบกแดดเมื่อเดือน มิ.ย.
หลังจากเมืองโมซูลถูกยึดเมื่อ 10 มิ.ย. กลุ่มไอเอสสามารถยึดอาวุธจากทหารอิรักที่หนีทิ้งเมืองไปได้จำนวน
มาก โดยข้อมูลจากแหล่งข่าวระบุว่า มีทั้งปืนกลขนาดกลางราว 4,000 กระบอก, รถฮัมวีราว 1,500 คัน
และพาหนะทางทหารอื่นๆ อีก นอกจากนี้ ยังมีปืนใหญ่ขนาด 155 มม. นำร่องด้วยจีพีเอส ซึ่งสามารถเล็งได้
เหมือนปืนสไนเปอร์ ระยะทำการ 40 กม. อีก 50 กระบอก, รถถัง ที-55 50 คัน และเฮลิคอปเตอร์อีก 2 ลำ
ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯจึงเริ่มปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ชาวอิรักในภาคเหนือ ซึ่ง
ต้องอพยพหนีภัยความรุนแรง โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยชาว ‘ยาซิดี’ ในเมืองซินจาร์ ผู้ไม่ยอมหันมานับถือ
ศาสนาอิสลาม ทำให้ตกเป็นเป้าหมายในการ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ของกลุ่มไอเอส ในเบื้องต้น สหรัฐฯ ได้ใช้
เครื่องบินหย่อนความช่วยเหลือทั้งน้ำและเสบียงอาหารแก่พวกเขาแล้ว ขณะที่อังกฤษ, ฝรั่งเศส และจีน
ต่างส่งความช่วยเหลือมาสมทบแล้ว
ก่อนหน้าที่สหรัฐฯ ตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางทหาร มีรายงานว่า ชาวยาซิดีถูกฆ่าตายหลายร้อยคน รวมทั้งเด็ก
หลายสิบคน หญิงชาวยาซิดีจำนวนมากถูกนักรบไอเอสบังคับพาตัวไปเป็นทาส และที่หนีตายไปอยู่บนภูเขา
กำลังรอความตาย เพราะไม่มีอาหารและน้ำ
อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐฯ จะเริ่มปฏิบัติการทางทหารครั้งใหม่ในอิรัก โดยตั้งเป้าไว้ชัดเจนว่าจะช่วยเหลือ
ผู้อพยพในภาคเหนือ และปกป้องเจ้าหน้าที่ของพวกเขาในเคอร์ดิสถาน และยืนยันจะไม่ส่งกองกำลัง
ภาคพื้นกลับเข้าไปในแนวหน้าของสมรภูมิอิรักอีกเด็ดขาด แต่สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในอิรักอาจดึง
ให้สหรัฐฯ และชาติตะวันตกดิ่งลงสู่ความขัดแย้งระยะยาวที่ไม่มีทางออกอันชัดเจน
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ความเสี่ยงที่อาจทำให้เป้าหมายของภารกิจในอิรักบิดเบือนไปจากเดิม จะเพิ่ม
สูงขึ้นอย่างมาก หากสถานการณ์ในพื้นที่บานปลายจนไม่อาจควบคุม จนอาจทำให้สหรัฐฯ เลี่ยงไม่ได้ที่จะ
ต้องขยายปฏิบัติการทางทหารในอิรัก เช่นกรณีที่การโจมตีทางอากาศอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับหยุด
ยั้งกลุ่มไอเอสจากการยึดพื้นที่ในอิรักและเคอร์ดิสถานเพิ่มมากขึ้น หรือหากกรุงแบกแดด, เมืองใหญ่
อย่างเมืองเคอร์คุก และเมืองเออร์บิล ถูกคุกคามอย่างรุนแรง
หรือกรณีที่การโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ส่งผลให้มีพลเมืองผู้บริสุทธิ์ต้องล้มตาย เนื่องจากกองกำลังหลัก
ส่วนใหญ่ของกลุ่มไอเอสฝังตัวอยู่ในพื้นที่ชุมชนในเมืองใหญ่อย่างโมซูลในอิรัก และที่เมืองรักกา ในซีเรีย
โดยก่อนหน้านี้มีรายงานแล้วว่า การโจมตีทางอากาศของกองทัพรัฐบาลอิรักที่เมืองโมซูล ทำให้มีพลเรือน
เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง สหรัฐฯ อาจตัดสินใจเปลี่ยนแผนการบางอย่าง เพราะเคยมือเปื้อนเลือดสมัยสงครามอิรัก
เมื่อปี 2003 มาแล้ว
แต่สถานการณ์ที่ถือเป็นฝันร้ายที่สุดของสหรัฐฯ คือการที่เครื่องบินรบของอเมริกันถูกยิงตก และนักบินถูกจับ
เป็นตัวประกัน โดยข้อมูลข่าวกรองในปัจจุบันยังไม่สมบูรณ์พอที่จะรู้ว่าอาวุธในคลังแสงของกลุ่มไอเอสมีชนิด
ใดบ้าง นักวางแผนทางทหารจึงอาจคำนวณแผนการโดยใช้สถานการณ์เลวร้ายที่สุดเป็นพื้นฐาน คือกลุ่ม
ไอเอสมีอาวุธที่สามารถยิงเครื่องบินได้ไว้ในครอบครอง ซึ่งอาจทำให้ปฏิบัติการในอิรักซับซ้อนขึ้นไปอีก
แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าสหรัฐฯ จะกลับลำส่งทหารภาคพื้นเข้าไปในอิรักหรือไม่ แต่เห็นได้ชัดว่าสหรัฐฯ ยังไม่อาจ
หลุดพ้นจากวังวนการต่อสู้ในอิรัก นับตั้งแต่เริ่มสงครามในอิรักอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2003 โดยอ้างว่าอิรักอาจ
ครอบครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง คุกคามความมั่นคงของสหรัฐฯ จากความหวั่นเกรงว่าจะเกิดเหตุซ้ำ
รอยโศกนาฏกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อ 9 ก.ย. 2001 แต่สุดท้ายก็ไม่มีการพบอาวุธที่ว่าแต่อย่างใด
ที่มา thairath