สมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย พร้อมผู้เสียหาย ลั่น ขอทำดีด้วยหัวใจอุทิศให้เพื่อแผ่นดิน ทำภารกิจถอนรากถอดโคนตบเท้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี คืนความสุขให้ประชาชน หยุดวงจรแชร์ลูกโซ่ หลังพบผู้เสียหายมีทุกอาชีพ ตั้งแต่ข้าราชการ อดีตข้าราชการบำนาญโดยหลอก แม่บ้าน ผู้เสียหายตบเท้าร้อง หน่วยงานราชการทุกหน่วยงานแต่ไม่คืบ ยังมีผู้เสียหายถูกหลอกรายวัน แชร์ลูกโซ่หลอกคนรายวัน หลอกคนแต่ละครั้งเป็นพันคน หมื่นคน ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย เสนอ 6 ข้อปราบปรามแชร์ลูกโซ่ให้หมดจากสังคมไทย วอนรัฐบาลใส่ปัญหานี้ในยุทธศาสตร์ชาติ เหตุแชร์ลูกโซ่ เป็นภัยต่อสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคงของไทย ย้ำปัญหาแชร์ลูกโซ่ ถ้าไม่ทำทั้งระบบ แก้ไม่จบ เพราะ สุดท้ายเหยื่อผันตัวเองเป็นโจรเสียเอง !!!!!
นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการที่มีกลุ่มประชาชนผู้เสียหายเข้าร้องเรียนต่อสมาพันธ์ฯ ว่า ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงหลายรูปแบบ มีตั้งแต่ ที่แฝงมาในรูปแบบมีสินค้าเป็นเครื่องบังหน้า เช่น ตะเกียงน้ำมันหอมระเหย ดีเอสไอ อายัดไว้ 800 กว่าล้านบาท ปปง. อายัดไว้ 74 ล้านบาท ผ่านมา 6 ปี ผู้เสียหายยังไม่ได้เงินคืน แถมมีผู้เสียหายออกมาร้องทุกข์แล้วนับหมื่นคน เป็นคดีในประวัติศาสตร์ที่มีผู้เสียหายออกมาร้องต่อเนื่อง สำนวนมีถึง 3 สำนวน และ ล่าสุดคดีแชร์ยาขาว ก็ใช้ขายตรงบังหน้าเอาอาหารเสริมเป็นตัวบังหน้าหลอกลวงเยาวชนจำนวนมาก ก็ยังหลอกลวงประชาชนอยู่ หรือล่าสุดมีหนังสือจาก สคบ. ให้ดีเอสไอ ตรวจสอบบริษัทที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่บริษัทนึง ชื่อ บริษัท ซ ( ตัวย่อ ) แต่ดีเอสไอ ก็ไม่ดำเนินการอ้างว่า ไม่มีผู้เสียหาย ซึ่งความจริงแล้วดีเอสไอ มีอำนาจตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือ แม้แต่ สคบ. เองก็มีอำนาจตามพระราชกำหนดดังกล่าว เพราะมีการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 แต่ก็ยังไม่มีการใช้อำนาจตามกฏหมายนี้ จึงทำให้ผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพจำนวนมาก ยังไม่นับรวมแชร์ออนไลน์ที่เปิดหลอกรายวัน
ผู้เสียหาย อรอุษา อาชีพนักเทคนิคการแพทย์ จากบ้านมิลิน เสียหาย 40,300 บาท ที่ตกเป็นเหยื่อเพราะ คิดว่าคงไม่ถูกหลอก เพิ่งเจอกับตัวเอง ทั้งที่ตนดูข่าวมาตลอด ก็คิดว่า ตนเองคงไม่ถูกหลอก วันนี้อยากให้หน่วยงานรัฐบาลติดตามปราบปรามแชร์ลูกโซ่ เพราะทุกวันนี้ จะเห็นได้ว่า แชร์บ้านกินดอก เปิดหลอกลวงเยอะมาก ทั้งในเฟสบุ๊ค และ ในไลน์ แต่ไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปจับกุม ประชาชนก็เลยเชื่อว่า คงไม่ผิดกฏหมาย เพราะ ถ้าผิดกฏหมายก็ต้องมีหน่วยงานรัฐจับกุมแล้ว
ผู้เสียหายยาขาว คุณ ป ( ชื่อย่อ ) ได้นำข้อมูลแชร์ยาขาว มามอบให้กับนายกรัฐมนตรี ว่าวันนี้ตนเองเป็นเด็ก เยาวชน ไปร้องทุกข์หลายหน่วยงานมาเป็นเดือนแล้ว ยังไม่มีหน่วยงานใดจับบริษัทดังกล่าว ยังเห็นกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงผู้เสียหายอยู่ อยากถามท่านนายกรัฐมนตรีว่า จะปล่อยให้หลอกตั้งแต่เด็กยันแก่เลยหรือไม่ ตนเป็นนักเรียนเอาเงินผู้ปกครอง ( อาม่า ) มา 177,000 บาท ไปร้องทุกข์หลายหน่วยงานแล้ว ไม่ว่าจะ สคบ., ปคบ., ปปง. และ ดีเอสไอ แต่ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงเดินทางมาพบนายกรัฐมนตรีในวันนี้
ผู้เสียหายแชร์หม่อนไหม ชื่อ นายบุญมา วิชัย เสียหายจากแชร์หม่อนไหม 300,000 บาทถ้วน ร้องดีเอสไอ ตั้งแต่เมษายนปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการจับกุมผู้ต้องหา ทั้งที่มีหมายจับแล้วหลายใบ แต่ก็ยังไม่เห็นมีการจับกุม จึงเดินทางมาพบนายกรัฐมนตรีในวันนี้ด้วย
ส่วน ผู้เสียหายแชร์คอรส์สัมนา ชื่อ นางวารุณี แสงกระจ่าง อดีตข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า ตนไม่เคยคิดเลยว่า จะตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ วันนี้ตนเองโดนเพื่อนสนิทมาชักชวนให้ร่วมลงทุน โดยตนเองลงทุนไป แพคเกจ VIP 3 แพคเกจ แพคเกจละ 108,000 บาท โดยจะได้รับปันผลสัปดาห์ละ 7% ที่ผ่านมาตนยังไม่ได้รับปันผลตามที่กล่าวอ้าง ตนเองได้ไปร้องทุกข์ และสอบปากคำที่กรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว จึงได้เดินทางมาร้องทุกข์ต่อ เลขาฯปปง. เพราะวันนี้ตนเดือดร้อนมาก เจอธนาคารฟ้องให้ชำระเงินที่ตนเองไปกู้มาลงทุน ไม่เคยคิดว่าแชร์ลูกโซ่จะระบาดหนักแบบนี้ จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญมากกว่านี้ เพราะตนเคยข้าราชการ จึงทราบดีถึงปัญหาในการแก้ไขปัญหา เพราะ ผัวพันหลายหน่วยงาน แต่ขาดเจ้าภาพในการทำ ทุกวันนี้ไม่มีใครจับมิจฉาชีพได้ก่อนเลย ต้องรอมีผู้เสียหาย มิจฉาชีพหนีแล้ว ถึงไล่ตามจับ
ผู้เสียหายอีกคนชื่อ คุณ บอย ( ชื่อเล่น ) ได้บอกว่า ตนเองได้ลงทุนไปล้านกว่าบาท ได้คืนมาเพียงหลักแสนต้นๆ ยังเสียหายเกือบ เก้าแสนบาท ตนเองนั้นได้เอาเงินเก็บมาลงทุน ซึ่งตอนนี้ลำบากมาก เพราะได้ลาออกจากงานมาลงทุนกับบริษัทดังกล่าวซึ่งคิดว่าเป็นธุรกิจที่ถูกต้องตามกฏหมาย ไม่น่าเชื่อเลยว่าบริษัทดังกล่าวจะมีการหลอกลวงให้คนเข้ามาร่วมลงทุนได้มากขนาดนี้ เพราะเท่าที่ตนทราบมาเหยื่อแชร์ลูกโซ่มีมากมายมหาศาลแต่ละคดีมีผู้เสียหายหลายพัน หลายหมื่นคน
นาย สามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลมีมาตรการเชิงรุกในการปราบปรามแชร์ลูกโซ่ เพราะอาชญากรรมดังกล่าว ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทย มาตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ที่ประเทศชาติต้องเสียหายนับแสนล้านบาท และทำลายครั้งเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงประเทศ ถือเป็นภัยร้ายทำลายชาติอย่างแท้จริง วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ ผู้เสียหาย และประชาชนคนไทยต้องลุกขี้นมา “ขออาสาทำความดีด้วยหัวใจ อุทิศให้เพื่อแผ่นดิน” เพราะจากข้อมูลที่ได้รับร้องทุกข์จากผู้เสียหาย จะเห็นได้ว่า ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์หลอกลวงแชร์ลูกโซ่ หรือ กลโกงแบบลูกโซ่นั้น กว่าผู้เสียหายจะร้องทุกข์คือแชร์ล้มแล้ว บริษัทปิดแล้ว ผู้เสียหายจาก 100 % จะมีผู้เสียหายแค่ 10% เข้าแจ้งความร้องทุกข์เท่าน้ัน เพราะปัญหาการแจ้งความในประเทศไทย ทำได้ด้วยความยากลำบาก เพราะขาดเจ้าภาพ แถมมิจฉาชีพนั้น เป็นอาชญากรที่มีความรู้ จึงมีการวางกลอุบายหลอกลวงประชาชนได้จำนวนมาก
การรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดี จึงต้องบูรณาการหลายหน่วยงาน พอขาดการบูรณาการ จึงขาดความต่อเนื่อง ทำให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินคดี ทำให้ผู้เสียหายกลโกงแบบลูกโซ่ มีเข้าแจ้งความเพียง 10% ส่วนอีก 30% จะรอดูว่า ผู้เสียหายกลุ่มแรกที่ไปร้องทุกข์นั้น ได้เงินคืนมั้ย ถ้าได้คนกลุ่มนี้จะออกมาร้องทุกข์ ส่วนอีก 20 % จะเป็นผู้เสียหายที่คิดว่าเป็นเวรกรรม เป็นกรรมเก่า และท้อกับกระบวนการยุติธรรม ที่ได้เงินคืนช้า จึงไม่ออกมาร้องทุกข์ และไม่ติดตามการดำเนินคดี คนกลุ่มนี้คือ พวกปล่อยวาง ส่วนอีก 40% สุดท้าย ไม่ติดตามไม่ร้องทุกข์ แต่ไปรวมกับมิจฉาชีพ หรือ ตั้งตนเป็นมิจฉาชีพเอง ในการหลอกลวงคนอื่น ให้เข้ามาติดกับดักแบบที่ตนเคยติดกับดักมิจฉาชีพมาก่อน เพื่อให้ได้เงินของตนเองที่เสียไปคืน
ดังนั้น จึงขอเสนอให้รัฐบาลมีการแก้ไขปัญหาดังต่อไปนี้
1. ให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพิ่มโทษผู้กระทำความผิดในฐานฉ้อโกงประชาชน ที่แต่เดิมมีอัตราโทษเพียงแค่ 3-5 ปี เป็น 7-14 ปี เพื่อทำให้มิจฉาชีพติดคุกอย่างต่ำ 50 ปี
“เหตุที่ต้องเสนอแบบนี้ เพราะเราเห็นตัวอย่างคดีแชร์ลูกโซ่ที่แม้จะมีโทษเป็นหมื่นปีแสนปี แต่ติดจริงไม่กี่ปี อย่างเช่น คดียูฟันศาลพิพากษาจำคุกจำเลยคดีนี้ 22 คน ตั้งแต่ 12,255 – 12,267 ปี แต่มิจฉาชีพติดจริงแค่ 20 ปี เพราะมีกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) ระบุว่า ถ้าอัตราโทษไม่ถึง 10 ปี ลงโทษได้ไม่เกิน 20 ปีเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหายที่บางรายถึงขั้นฆ่าตัวตาย ควรมีการคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายเหล่านี้ ด้วยการลงโทษผู้กระทำผิดสถานหนัก เพื่อทำให้มิจฉาชีพเกรงกลัวกฎหมายและไม่กล้าทำความผิดแบบนี้อีก”
2. ภาครัฐควรมีหน่วยงานลักษณะ “One Stop Service บริการแบบเบ็ดเสร็จรับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อในธุรกิจแชร์ลูกโซ่ หรือฉ้อโกงโดยเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนไม่ทราบที่แจ้งความอย่างชัดเจน
“ปัญหาที่พบคือ เมื่อเกิดฉ้อโกงขึ้น แต่ประชาชนไม่รู้จะไปแจ้งที่ไหน สถานีตำรวจ กองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ประชาชนไม่เข้าใจ และบางครั้งหน่วยงานที่ไปแจ้งก็ไม่รับแจ้ง เพราะฉะนั้น ต้องมีหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนโดยเฉพาะ มีเจ้าภาพที่ชัดเจน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะมีประชาชนตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ทุกวัน”
3. รัฐบาลควรมีปฏิบัติการเชิงรุก มีกระบวนการเยียวยาผู้เสียหายให้รวดเร็วขึ้น รวมถึงการสร้างการรับรู้ แสวงหาตรวจสอบ และจับกุมผู้กระทำความผิดที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ หรือฉ้อโกงประชาชน ไม่รอให้เกิดความเสียหายจำนวนมหาศาลขึ้นก่อน
4. ต้องคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาคดีแชร์ลูกโซ่ทุกคดี เพื่อให้มิจฉาชีพเกรงกลัวต่อกฏหมายที่ผ่านมา ให้ประกันตัวก็หลบหนี หรือไม่ก็ไปหลอกลวงคนอื่นซ้ำอีก เพราะไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษ มีให้เห็นมาแล้วคดีเติมเงินมือถือ และ ในอดีตผ่านมาเช่น คดีแชร์บลิสเชอร์
5. ต้องมีเจ้าภาพทำคดีล้มละลาย เพราะทุกวันนี้ไม่มีใครทำสำนวนฟ้องล้มละลาย จึงทำให้คดีล่าช้า ใช้เวลายาวนานถึง 30 ปี กว่าจะได้รับเงินคืน เช่น คดีแชร์แม่นกแก้ว ที่ผู้เสียหายแจ้งความเมื่อปี พ.ศ.2530 แต่เพิ่งได้รับเงินคืนเมื่อเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา
6. ถ้าโกงผู้เสียหายหลายพันคน ขอให้ประหารชีวิต ไม่ต้องจำคุก
“อยากให้รัฐบาลบรรจุเรื่องนี้ให้อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ เพราะแชร์ลูกโซ่เป็นอาชญากรเลือดเย็น ฆ่าคนทั้งเป็นได้ อย่าหลงเชื่อเขาเด็ดขาด แม้เป็นข้อมูลจากคนใกล้ตัว หากไม่ชอบมาพากล หรือมีผลประโยชน์น่าสงสัย ขอให้ตั้งสติ และตรวจสอบก่อนอย่างรอบคอบ ที่สำคัญถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนต้องเข้ามาร่วมมือกัน เพื่อปราบปรามแชร์ลูกโซ่ ป้องกันไม่ให้คนไทยตกเป็นเหยื่อ และกลายเป็นปัญหาของสังคม เพราะนั่น คือทุกข์ของคนไทยทุกคน” นายสามารถ กล่าว