เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2561 นายธานี หะยีมะสาและ นายอำเภอละงู จ.สตูล เป็นประธานร่วมกิจกรรม ทิ่มเม่า รวมญาติ สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ม.5 บ้านดาหลำ ต.เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งประเพณีการทิ่มเม่า หรือตำข้าวเม่า ถือเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวบ้าน เมื่อข้าวเริ่มจะมีน้ำนมข้าวใกล้ เป็นข้าวที่ได้มาจากรวงข้าวสีเขียวไล่มาจนถึงสีเขียวออกน้ำตาล เมื่อเก็บมาแล้วมาแช่น้ำ จากนั้นนำมาคั่ว ตำ แล้วนำไปรับประทานได้เลย ถ้าทำสุกใหม่ ๆ ก็จะนิ่ม หรือบางคนก็จะนำไปคลุกเคล้าด้วยน้ำตาลทราย มะพร้าวและเกลือ เรียกว่าข้าวเม่าคลุก รับประทานแทนขนม แต่สำหรับหมู่บ้านแห่งนี้นิยมกินคู่กับฟักทองแกงบวชโดยจะบวชฝักทอง เผือกมันแล้วนำข้าวเม่าที่ตำเสร็จแล้วมาใส่กินด้วยกัน และอีกชนิดหนึ่งคือกินคู่กับมะพร้าวอ่อนพร้อมน้ำมะพร้าว
ปัจจุบัน การตำข้าวเม่ากำลังจะสูญหาย เนื่องจากสังคมเกษตรกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านซึ่งเป็นญาติพี่น้องกันจึงรวมตัว เพื่อสร้างสัมพันธุ์กันในเครือญาติ และเพื่อนบ้านซึ่งประเพณีทิ่มเม่าของหมู่บ้านแห่งนี้ยังคงยึดถือเอาไว้ เนื่องจากยังมีพื้นที่ทำนา และมีความผูกพันธ์กับนาข้าว การทิ่มเม่าถือเป็นการสานสัมพันธ์ได้อย่างดี โดยเฉพาะเวลาทิ่มเม่า หรือตำข้าวเม่า ต้องอาศัยความชำนาญ เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เคยต่างสนุกสนานที่ได้ร่วมกิจกรรมดังกล่าว เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรีรมการทำข้าวเม่าไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังได้สืบทอดและระลึกถึงวัฒนธรรมโบราณที่มีค่าได้ปฏิบัติสืบไป อีกทั้งยังส่งเสริมความสามัคคีของคนในท้องถิ่น ส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นหลังได้อนุรักษ์ประเพณีการทิ่มเม่าเอาไว้
นางสุวรรณ แคยิหวา อายุ 65 ปีชาวบ้าน ม.7 ต.เขาขาว อ.ละงู กล่าวว่า คนรุ่นก่อนที่ถ่ายถอดมาด้วยการสร้างต้นแบบวิธีคิดที่ดีให้กับพวกเรา ได้รำลึกถึงความรักความสัมพันธ์ การช่วยเหลือเอื้ออาทรกันระหว่างญาติพี่น้องให้เหนียวแน่นเหมือนคนสมัยก่อน ปัจจุบันกิจกรรมแบบนี้หาดูได้ยาก การจัดประเพณีทิ่มเม่ารวมญาติฯในครั้งนี้ ถือเป็นการรวมญาติพี่น้องซึ่งบางคนอยู่ต่างหมู่บ้านได้มารวมตัวกัน สืบสานประเพณีที่ดีงามให้คนรุ่นหลังได้เห็นพลังความสามัคคีของคนรุ่นเก่า และสืบสานประเพณีดังกล่าวให้คงอยู่สืบไป นอกจากจะเป็นการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่ของดีของชาวบ้าน โดยข้าวเม่าที่ชาวบ้านได้ตำขายนั้นอยู่ กก.ละ 200 บาท ถือเป็นรายได้เสริมให้กับชาวบ้านที่ปลูกข้าวไร่ในช่วงนี้ด้วย
นิตยา แสงมณี // สตูล