ปัจจุบันกองกำลังเปชเมอร์กา ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลามหรือ ไอเอสมีอยู่ประมาณ 190,000
คน เดิมทีในช่วงปลายทศวรรษ 1800 เป็นกองกำลังที่จัดตั้งขึ้นอย่างหลวม ๆ เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์พรมแดน
ของชาวเคิร์ดแต่หลังจักรวรรดิออตโตมานล่มสลายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กองกำลังพิทักษ์พรมแดนก็
ถูกยกฐานะขึ้นเป็นกองกำลังสู้รบของชาวเคิร์ด
เมื่อขบวนการชาตินิยมเคิร์ดเริ่มเติบใหญ่ เปชเมอร์กาก็พลอยกลายเป็นที่รู้จักไปด้วยในฐานะเป็นส่วนสำคัญ
ของวัฒนธรรมเคิร์ด ได้เลื่อนชั้นจากกองกำลังชนเผ่าพิทักษ์พรมแดนมาเป็นกองกำลังแห่งชาติของ
รัฐเคิร์ดเอกราช
เปชเมอร์กาเริ่มก่อตัวตั้งแต่เมื่อไหร่
นักรบในกองกำลังเปชเมอร์กาปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นทหารผ่านศึก บ้างก็เคยต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาลอิรัก
บ้างก็เคยสู้รบกันเองในระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ของรัฐเคิร์ด
หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เคอร์ดิสถานซึ่งเดิมทีเป็นเขตกันชนระหว่างจักรวรรดิออตโตมานกับ
จักรวรรดิเปอร์เชีย กลายเป็นหนึ่งในหลาย ๆ รัฐชาติที่ถือกำเนิดขึ้นหลังการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมาน
ความระส่ำระสายในภูมิภาคทำให้เกิดสูญญากาศด้านอำนาจ ชาวเคิร์ดเริ่มต่อสู้เพื่อตั้งรัฐเอกราชของตนเอง
สงครามอิหร่าน-อิรัก
ล่วงมาถึงทศวรรษ 1970 ชาวเคิร์ดเริ่มแตกออกเป็นสองฝ่าย เริ่มต่อสู้แย่งชิงเคอร์ดิสถานในฝั่งอิรักกัน
ฝ่ายหนึ่งยึดภาคเหนือ อีกฝ่ายยึดภาคใต้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ทั้งสองฝ่ายก็หันมาจับมือกับสู้กับอิรัก
ชาวเคิร์ดเผ่าต่าง ๆ ที่เคยเป็นศัตรูกันหันมารวมตัวกัน ทำให้ขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชเข้มแข็งขึ้น
ต่อมาในห้วงทศวรรษ 1980 ช่วงที่อิรักทำสงครามกับอิหร่าน เปชเมอร์กาได้ยกระดับเป็นหน่วยรบ
จรยุทธ์ที่ทรงประสิทธิภาพ
นักรบชาวเคิร์ดจำนวนมากแปรพักตร์มาจากกองทัพอิรักของซัดดัม ฮุสเซน บางส่วนไปเข้าร่วมกับกองกำลัง
ของอิหร่าน ต่อมาพอชาวเปชเมอร์กาเผ่าต่าง ๆ รวมตัวกันต่อสู้เพื่อยึดดินแดนเคอร์ดิสถานในอิรักเป็นของตน
ซัดดัม ฮุสเซนก็สั่งปราบปรามทันทีในปฏิบัติการที่เรียกว่าอันฟาล
ในปี 1988 ซัดดัมสั่งโจมตีเมืองฮาลับจาทางภาคใต้ของเคอร์ดิสถานด้วยอาวุธเคมี ชาวบ้านล้มตาย
ประมาณ 5,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก
ผลจากปฏิบัติการอันฟาลของซัดดัมทำให้เปชเมอร์กาต้องหยุดปฏิบัติการ เพราะชาวเคิร์ดเสียชีวิต
ไปหลายแสนคน และอีกกว่าล้านคนต้องอพยพหลบหนีออกจากบ้าน
การสู้รบกับซัดดัม
ตลอดห้วงทศวรรษ 1990 และหลังปฏิบัติการอันฟาล แม้จะสูญเสียชีวิตไปมากมาย แต่เปชเมอร์กา
ก็ยังยืนหยัดต่อสู้กับกองกำลังของอิรักตลอดเวลาขณะที่อิรักเองถูกกองกำลังนานาชาติภายใต้การนำ
ของสหรัฐบุกถล่มในสงครามอ่าวครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นความขัดแย้งภายในของชาวเคิร์ดสองฝ่ายก็ยังดำรงอยู่ คือ ระหว่างฝ่ายพรรค
ประชาธิปไตยเคิร์ด (KDP) ภายใต้การนำของนายมัสซูด บาร์ซานี กับสมาพันธ์รักชาติแห่งเคอร์ดิสถาน
(PUK) ภายใต้การนำของนายจาลาล ทาลาบานี ซึ่งต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอิรัก
ในช่วงดังกล่าวกองกำลังเปชเมอร์กามีการรับผู้หญิงเข้าไปเป็นนักรบด้วยเพื่อเสริมกำลังพลใน
การสู้รบกับซัดดัม ฮุสเซน
ความร่วมมือกับซีไอเอ
หลังจากชาวเคิร์ดสองฝ่ายจับมือกันได้ภายใต้ข้อตกลงวอชิงตันในปี 1988 กองกำลังเฉพาะกิจของสหรัฐ
ก็ส่งหน่วยซีไอเอเข้าไปในเคอร์ดิสถาน เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างกองกำลังเปชเมอร์กากับสหรัฐ
ซึ่งต่างก็มีศัตรูร่วมคือรัฐบาลของซัดดัม ฮุสเซน กองกำลังเปชเมอร์กามีบทบาทสำคัญยิ่งในการโค่นล้ม
ซัดดัม ฮุสเซน
หลังจากรัฐบาลพรรคบาธของซัดดัมถูกทำลายราบคาบ กองกำลังของสหรัฐก็ได้ร่วมมือกับกองกำลัง
เปชเมอร์กาต่อมา ทั้งช่วยฝึกอาวุธและร่วมซ้อมรบ
หลังนายจาลาล ทาลาบานีจากพรรค PUK ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่หกของอิรัก และ
นายมัสซูด บาร์ซานีจากพรรค KDP ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของเคอร์ดิสถานฝั่งอิรัก ชาวเคิร์ดต่างก็ยิ่ง
มีความหวังว่าสักวันพวกตนคงจะมีอำนาจปกครองตนเองเสียที
ขอบคุณเนื้อหา CNN