คนไทยรอเฮ !! ผลงานการแกะสลักหิมะนานาชาติ วันสุดท้ายเสร็จสมบูรณ์ สวย สง่างาม สมชื่อแชมป์เก่ารางวัล Top Grade Awards จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ด้วยผลงาน “อาชา-ปักษา-มัจฉา-วารี” เชื่อมั่นจะนำชัยชนะมาฝากคนไทยทั้งประเทศ วันนี้ช่วงเย็นรอลุ้นสร้างปรากฏการณ์จะคว้าความสำเร็จมาครองสู่สมัยที่ 2 ได้หรือไม่
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561 รายงานบรรยากาศวันสุดท้ายของการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ (The 10 th International Collegiate Snow Sculpture Contest 2018) ณ มหาลัยวิศวกรรมฮาร์บิ้น เมืองฮาร์บิ้น มณฑลเฮย์หลงเจียง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีการจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 4-7 มกราคม 2561 มีทีมที่เข้าแข่งขันทั้งหมด 55 ทีม 12 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีทีมที่เข้าร่วมแข่งขันจำนวน 3 ทีม ได้แก่ ทีมจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี และวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ ได้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ โดยปีนี้มีทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน 55 ทีม 12 ประเทศทั่วโลก
สำหรับวันสุดท้าย วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ดีกรีแชมป์เก่า รางวัล Top Grade Awards มีคะแนนรวมสูงสุด จาก 57 ทีม 15 ประเทศทั่วโลก เมื่อปีที่ผ่านมา นำทีมโดย นางสุวนิจ สุริยพันตรี รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ผู้ประสานงาน นายพิศิษฐ์ อู่ศิริกุลพาณิชย์ นายสุรชาติ พละศักดิ์ ครูผู้ควบคุมทีมการแข่งขัน พร้อมด้วย นายกฤษณะ คบสหาย นายธนศักดิ์ พิพัฒน์ นายธนากร ศักดิ์สิงห์ และนายอภิสิทธิ์ ศรชัย นักเรียน ปวช.3 สาขาวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี
โดยการทำงานวันสุดท้าย ทุกคนในทีมยังคงเร่งทำงานต่อตั้งแต่เช้า ด้วยการทุ่มเทอย่างสุดฝีมือ เพื่อรังสรรค์ความงดงามออกมาผ่านก้อนหิมะด้วยขนาดความสูง 3.80 เมตร ให้ออกมาสวยงาม และเสร็จให้ทันกำหนดระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด การทำงานดำเนินไปเรื่อยๆท่ามกลางความหนาวเย็น แต่จู่ๆก็มาพบกับอุปสรรค เมื่อสมาชิกในทีม นายพิศิษฐ์ หัวหน้าคณะวิชาศิลปกรรม เกิดภาวะอาการตาแห้ง มีอาการระคายเคือง และแสบตาอย่างมาก ดวงตาพร่ามัว ลืมตาลำบาก และมีอาการน้ำตาไหลออกมามาก ซึ่งเกิดจากภาวะร่างกายแพ้ลมและความหนาวเย็นของภูมิอากาศ แม้ว่าวันดังกล่าวอากาศจะเริ่มอุ่นขึ้นแล้วก็ตาม ที่อุณหภูมิ ติดลบ 16 องศาเซลเซียส จึงได้หยุดพักการทำงานไปเกือบ 2 ชั่วโมง พร้อมปฐมพยาบาลด้วยการใช้นำอุ่นล้างตา จนสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ ก่อนจะรังสรรค์ผลงานได้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม สำเร็จทันเวลา 18.00 น. พอดี
ด้วยผลงานจากแนวความคิดมาจากป่าหิมพานต์ คติพุทธศาสนาและฮินดู ที่ถือว่าเป็นดินแดนทิพย์ที่มีอยู่จริงจัดอยู่ในเขตสวรรค์ ชั้น 1 คือชั้นจาตุมหาราชิกา ที่ใกล้ชิดกับมนุษย์โลก ซึ่งส่งผลต่อคติความเชื่อของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยพลังความศรัทธาเป็นมงคลชีวิตที่ดีงามของสัตว์ป่าหิมพานต์ที่เป็นตัวแทนของบุญวาสนาและความสำเร็จ มาเป็นแนวคิดในการออกแบบ ในชื่อผลงานที่ว่า “อาชา-ปักษา-มัจฉา-วารี” (Belief… Faith… Miracle) ด้วยการนำ ม้า-นก-ปลาและน้ำ จากป่าหิมพานต์มาแกะสลักลงบนก้อนหิมะตามจินตนาการเพื่อสื่อถึงเรื่องราวที่เป็นพลังความเชื่อ ความศรัทธาของมนุษย์ กล่าวคือ “ม้า” หมายถึง สัตว์นำโชค เป็นสัญลักษณ์ถึงความเจริญก้าวหน้า มุมานะอดทน และการขยันขันแข็งในการทำงานเพื่อเป้าหมายสู่ความสำเร็จในชีวิต “นก” หมายถึง ความอิสระของพลังแห่งความคิด การกระทำ มักมีความฉลาดหลักแหลมด้านสติปัญญา และทะยานบินไกลสู่ความสำเร็จ “ปลา” หมายถึง สัญลักษณ์ของความมั่นคั่ง การมีเงินทองล้นหลาม ความอุดมสมบูรณ์ ร่ำรวย มีผลกำไร “น้ำ” หมายถึง ชีวิตแห่งการเริ่มต้นและสิ้นสุดเป็นสัญลักษณ์ถึงความอุดมสมบูรณ์ ความสุข ความชุ่มชื่นเย็นฉ่ำ และเป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่งบนโลกใบนี้
นายสุรชาติ พละศักดิ์ ครูผู้ควบคุมทีม เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจกับงานที่ตนและลูกศิษย์ทำในครั้งนี้ โดยเฉพาะช่วงระยะเวลาอันสั้นเมื่อเทียบกับผลงานที่มีความยากกว่าปีที่ผ่านมาเท่าตัว อีกทั้งเรายังต้องเจออุปสรรคระหว่างการทำงานในเรื่องแบบหรือโมเดลที่ต้องปรับแก้ในวันแรก ตามด้วยปัญหาเวลาที่กระชั้นชิดกว่าทุกปี และปัญหาสุขภาพของสมาชิกในทีมทั้งครูและของเด็ก ซึ่งปีนี้ผมยอมรับว่าเหนื่อยมาก และทุกคนในทีมก็เหนื่อยไปตามๆกัน แต่ไม่มีใครท้อและสู้ต่อจนผลงานได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งนับว่าคุ้มค่ากับความเหนื่อยล้าอย่างมาก เมื่อเห็นผลงานที่ออกมามีความสวยงาม และได้รับการชื่นชมจากชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพบเห็นพร้อมกับเข้ามาดูอย่างสนใจ ตนเชื่อมั่นว่าผลงานของทีมเรามีความโดดเด่นไม่แพ้ทีมใดในโลก ต้องรอลุ้นในวันพรุ่งนี้ ว่าทีมเราจะทำได้สำเร็จหรือไม่กับรางวัลที่คาดหวัง
ด้าน นายพิศิษฐ์ อู่ศิริกุลพาณิชย์ หัวหน้าคณะวิชาศิลปกรรม ครูผุ้ควบคุมทีมอีกคน กล่าวว่า การทำงานในวันนี้เร่งมาก เพื่อให้ทันเวลาที่กำหนด ทุกคนมีความพร้อมด้วยใจสู้เกินร้อย แม้จะต้องเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน เมื่อผมทำงานอยู่ดีๆก็รู้สึกว่าตัวเองลืมตาไม่ขึ้น แสบตาและน้ำตาไหลไม่หยุด ซึ่งเกิดจากภาวะตาแห้ง จึงต้องหยุดพักไปสักพัก เพื่อปรับสภาพร่างกายอาการให้ดีขึ้น แล้วจึงค่อยฮึดสู้ลุยงานต่อจนกระทั่งผลงานได้แล้วเสร็จและเป็นที่พอใจกับทุกคนในทีม โดยจุดเด่นของงานเราอยู่ที่โครงสร้างที่เหมาะสมสวยงามได้สัดส่วน รายละเอียดของงานที่แกะสลักมีความยากกว่าทุกปีที่ผ่านมา นั่นคือความท้าทายที่ทีมเราต้องก้าวไปให้ถึงในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นในการแข่งขัน ทำให้ความโดดเด่นของผลงานปีนี้อยู่ที่ความสง่างามด้วยอาชา หรือม้า ที่ครูและนักเรียน นักศึกษาร่วมกันรังสรรค์ผลงานสลักหิมะให้เป็นม้าที่มีชีวิต ทรงพลัง พร้อมแต่งเติมความอ่อนช้อยสวยงามของผลงานให้เกิดความพลิ้วไหวด้วยปักษา หรือนก และมัจฉา คือตัวปลาที่แหวกว่ายในน้ำ ทำให้ผลงานดูรวมๆแล้วกลมกลืน สวยงาม และมีพลังในตัว โดยผมและทีมงานทุกคนยังเชื่อมั่นว่าเราจะสร้างปรากฏการณ์อีกครั้งจากปีที่ผ่านมาด้วยการคว้ารางวัล Top Grade Awards ทีมที่มีคะแนนรวมสูงสุดจากทุกทีมที่เข้าร่วมแข่งขัน แต่ถ้าหากพลาดจากรางวัลดังกล่าวก็คงจะได้รับรางวัลชนะเลิศมาครองไม่รางวัลใดก็รางวัลหนึ่งอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ 7 มกราคม 2561 ช่วงเวลา 09.00 น. ตามเวลาของสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะกรรมการซึ่งเป็นชาวจีนทั้งหมด ประกอบด้วยนักออกแบบ ศิลปินนักศิลปะ อาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถานประกอบการ จะเดินทางลงพื้นที่ชมความงามบนก้อนหิมะที่ผ่านการแกะสลักทุกก้อนที่เข้าร่วมการแข่งขัน พร้อมกับสัมภาษณ์สมาชิกทุกคนในทีม เกี่ยวกับแนวคิดในการทำงานของผลงานที่รังสรรค์ ก่อนที่คณะกรรมการจะรวบรวมผลคะแนน และประกาศผลในวันเดียวกัน ในช่วงเย็น เวลา 16.00 น. ตามเวลาของสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายในหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิ้น ซึ่งต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าทีมดีกรีแชมป์เก่า ตัวเต็งในการแข่งขันในครั้งนี้ จากดินแดนถิ่นอีสานบ้านนา วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานีจะสร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จคว้าชัยชนะมาครองสู่สมัยที่ 2 ได้หรือไม่
ขอขอบคุณภาพ/ข่าว
ทีมงานอาชีวะฯอุบลราชธานี
ทศพร ก้อนแก้ว รายงาน