เริ่มแล้ว การแกะสลักหิมะระดับโลกที่เมืองฮาร์บิ้น ประเทศจีน วันแรกแชมป์เก่าจากประเทศไทย ทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ต้องเจออุปสรรคหนักด้วยแบบโมเดลไม่ได้ขนาดกับก้อนหิมะ และลูกทีมป่วยจากไข้หวัด แต่ยังสู้กำลังใจดีเกินร้อยพร้อมรักษาแชมป์ นำชัยชนะมาฝากคนไทยทั้งประเทศ
เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา เป็นวันแรกของการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ (The 10 th International Collegiate Snow Sculpture Contest 2018) ณ มหาลัยวิศวกรรมฮาร์บิ้น เมืองฮาร์บิ้น มณฑลเฮย์หลงเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีการจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 4-7 มกราคม 2561 มีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 55 ทีม 12 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีทีมเข้าร่วมแข่งขัน จำนวน 3 ทีม ได้แก่ ทีมจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี, วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี และวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้
ด้าน วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ดีกรีแชมป์เก่า นำทีมโดย นางสุวนิจ สุริยพันตรี รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ผู้ประสานงาน นายพิศิษฐ์ อู่ศิริกุลพาณิชย์, นายสุรชาติ พละศักดิ์ ครูผู้ควบคุมทีมการแข่งขัน พร้อมด้วย นายกฤษณะ คบสหาย, นายธนศักดิ์ พิพัฒน์, นายธนากร ศักดิ์สิงห์ และนายอภิสิทธิ์ ศรชัย นักเรียน ปวช.3 สาขาวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี
สำหรับวันที่ 4 มกราคม 2561 ทีมที่เข้าแข่งขันทุกทีม ลงสนามแข่งแกะสลักหิมะนานาชาติเป็นวันแรก เริ่มแข่งขันในเวลา 08.00 น. ตามเวลาของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทีมแชมป์เก่าจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ต้องพบการแข่งขันในด่านแรก เกี่ยวกับการวางสเกลออกแบบก้อนหิมะ ที่จับสลากได้จาการแข่งขัน เป็นก้อนที่ 10 ซึ่งถือว่า ได้พื้นที่ทำเลดี อยู่ส่วนหน้าของมหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิ้น เป็นจุดเด่นต่อสายตาผู้พบห็น จาก 55 ก้อน หรือ 55 ทีม 12 ประเทศ ที่เข้าร่วมการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะลงมือแกะสลักกระบวนการแรกในการทำงาน กลับพบอุปสรรคคือ แบบหรือโมเดลที่จำลองมาเพื่อแข่งขันขนาดไม่เหมาะสม กับก้อนหิมะที่มีอยู่สำหรับแข่งขัน คือความสูง 3X3 เมตร แต่โมเดลที่ออกแบบไว้นั้นมีขนาดความสูงถึง 5 เมตร ซึ่งสูงมากและคาดการณ์ว่า ไม่สามารถนำหิมะมาต่อให้สูงตามแบบโมเดลที่กำหนดไว้ได้ จึงดำเนินการปรับแบบให้มีขนาดความสูงลดลงเหลือเพียง 3.8 เมตร ทางทีมงานต้องระดมความคิดปรับแก้แบบให้เกิดความสมดุลและสวยงามใหม่อีกครั้ง ทำให้ต้องเสียเวลาแก้ไขแบบดังกล่าวถึง 2 ชั่วโมง จึงเกิดความล่าช้าในการทำงานเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ประกอบกับวันแข่งขันอุณหภูมิลดลงติดลบ 26 องศาสเซลเซียส เป็นสาเหตุให้ลูกทีมที่เข้าร่วมแข่งขันจำนวน 2 คน เกิดอาการป่วยเป็นไข้หวัด คือ นายอภิสิทธิ์ ศรไชย น้องเก้า และนายธนากร ศักดิ์สิงห์ น้องออย แต่ทั้งสองคนสามารถทำงานได้ตามปกติ เพราะรับประทานยาแล้วมีอาการดีขึ้น
ขณะที่ นายพิศิษฐ์ อู่ศิริกุลพาณิชย์ หัวหน้าคณะวิชาศิลปกรรม ผู้ประสานงานและครูผู้ควบคุมทีม เปิดเผยว่า แม้การแข่งขันครั้งนี้จะพบเจออุปสรรคที่ทำให้เกิดความเครียดอยู่บ้าง เพราะการวางแผนโมเดลมีความคลาดเคลื่อนจากการทำงานจริง ประกอบกับได้พัฒนางานให้มีละเอียดอ่อนช้อยสวยงาม และความยากมากขึ้นกว่าเดิม จากผลงานปีที่ผ่านมาเป็นเท่าตัว เพื่อสร้างสรรค์และความแปลกใหม่ให้เกิดขึ้นกับการแข่งขัน ซึ่งต้องอาศัยการทำงานที่มีสมาธิ และความประณีตสูง แต่ทีมงานทุกคนก็ยังมีกำลังใจเกินร้อยที่จะสร้างปรากฎการณ์ของเด็กอีสานบ้านนานำวิชาชีพและความรู้ความสามารถจากการเรียนอาชีวศึกษามาใช้ให้ประสบความสำเร็จ ด้วยการสร้างชื่อเสียงนำชัยชนะมาฝากคนไทยทั้งประเทศสู่ปีที่ 2 ของการแข่งขัน ซึ่งขณะนี้ผลงานได้ผ่านการรังสรรค์ไปแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์
โดยปีนี้ใช้ชื่อผลงานว่า “อาชา-ปักษา-มัจฉา-วารี” (Belief… Faith… Miracle) ด้วยการนำ ม้า-นก-ปลา และน้ำ จากป่าหิมพานต์มาแกะสลักลงบนก้อนหิมะตามจินตนาการ เพื่อสื่อถึงเรื่องราวที่เป็นพลังความเชื่อ ความศรัทธาของมนุษย์ กล่าวคือ “ม้า” หมายถึง สัตว์นำโชค เป็นสัญลักษณ์ถึงความเจริญก้าวหน้า มุมานะ อดทน และการขยันขันแข็งในการทำงานเพื่อเป้าหมายสู่ความสำเร็จในชีวิต “นก” หมายถึง ความอิสระของพลังแห่งความคิด การกระทำ มักมีความฉลาดหลักแหลมด้านสติปัญญา และทะยานบินไกลสู่ความสำเร็จ “ปลา” หมายถึง สัญลักษณ์ของความมั่นคั่ง การมีเงินทองล้นหลาม ความอุดมสมบูรณ์ ร่ำรวย มีผลกำไร “น้ำ” หมายถึง ชีวิตแห่งการเริ่มต้นและสิ้นสุดเป็นสัญลักษณ์ถึงความอุดมสมบูรณ์ ความสุข ความชุ่มชื่นเย็นฉ่ำ และเป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่งบนโลกใบนี้
ขอขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก….ปชส.อาชีวะศึกษา อุบลราชธานี
ทศพร ก้อนแก้ว รายงาน