รบ.แคนาดา ตัดสินใจมอบวัคซีน ให้องค์การอนามัยโลก หวังนำไปช่วยชีวิตผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลาในแอฟริกา
ตต. หลังยอดตายพุ่งไม่หยุด ขณะที่บาทหลวงสเปน ติดเชื้ออีโบลา เสียชีวิตแล้ว แม้จะได้รับยา
Zmapp ของสหรัฐฯ ก็ตาม
เมื่อ 13 ส.ค. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าวิกฤติการณ์เชื้อไวรัส อีโบลาแพร่ระบาดรุนแรง
ในแอฟริกา ตะวันตก เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตล่าสุด แล้ว 1,013 รายว่า รัฐบาลแคนาดาตัดสินใจจะมอบ
วัคซีนทดลอง ที่พัฒนาคิดค้นโดยห้องแล็บของรัฐบาล และยังผลิตได้เป็นจำนวนไม่มากนัก
ให้แก่องค์การอนามัยโลก ( WHO) เพื่อนำไปช่วยรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลา ในแอฟริกา ตะวันตก
โรนา เอ็มบรอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแคนาดา กล่าวว่า เธอได้เสนอจะมอบวัคซีนอีโบลา
ราว 800-1,000 โดส ให้แก่ ดร.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกโดยตรง ขณะที่
ดร.เกร็ก เทย์เลอร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพของแคนาดา กล่าวว่า ปัจจุบัน ห้องแล็บของรัฐบาลแคนาดา
สามารถผลิตวัคซีนรักษาอีโบลาได้เพียงราว 1,5000 โด๊สเท่านั้น หลังจากเริ่มคิดค้น เมื่อ 2-3 ปีก่อน
และจำเป็นต้องใช้เวลาอีก 6 เดือนจึงจะสามารถผลิตได้เป็นปริมาณมาก
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ มีความหวังว่า วัคซีนของทางการแคนาดาจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก
อีโบลาได้นั้น ปรากฏว่า ด้านบาทหลวงมิเกล ปาจาเรส บาทหลวงชาวสเปนวัย 75 ปีที่ติดเชื้ออีโบลา
ในประเทศไลบีเรีย และถูกส่งกลับมารักษาที่โรงพยาบาลในกรุงมาดริดเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น
ได้เสียชีวิตแล้ว แม้ว่าเขาจะได้รับยา หรือวัคซีน Zmapp ราว 2-3 วัน และนับเป็นผู้ป่วยชาวยุโรป
รายแรกที่สิ้นชีพจากเชื้อไวรัสมรณะ
ทั้งนี้ วัคซีน Zmapp ยังเป็นวัคซีนที่อยู่ในขั้นทดลอง ผลิตโดยห้องแล็บในสหรัฐฯ สามารถช่วยทำให้
อาการป่วยของนายแพทย์เคนต์ แบรนด์ลีย์ และมิชชันนารี แนนซี ไวท์โบล ชาวอเมริกัน 2 คนที่ติด
เชื้ออีโบลาที่ไลบีเรีย มีอาการดีขึ้น ขณะที่คณะกรรมการองค์การอนามัยโลก ในกรุงเจนีวา ได้อนุมัติ
ให้มีการใช้ยา Zmapp แล้ว เมื่อ 12 ส.ค.ด้วยเหตุผลด้านจริยธรรม แม้ยังเป็นวัคซีนในขั้นทดลอง
และเพิ่งใช้กับนายแพทย์แบรนด์ลีย์เป็นรายแรก.