เตรียมสำรวจ ออกแบบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวป่าซับลังกา เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัด เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ลพบุรี พื้นที่กว่า 2 แสนไร่
ที่ห้องประชุมนครบาล โรงแรมโฆษิตฮิลล์ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ นายวรพจน์ แววสิงห์งาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดการประชุมชี้แจงรายละเอียดโครงการท่องเที่ยวอารยธรรมวิถีไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาป่าสัก กิจกรรมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญใน 4 จังหวัด กิจกรรมย่อยสำรวจ ออกแบบแปลน วางผังพื้นที่ทัศนศึกษาธรรมชาติเชิงสัตว์ป่าซับลังกาเพื่อการเรียนรู้ทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน มีนายสุกิจ รัตนวิบูลย์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เพชรบูรณ์ กล่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์ชาต 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 มุ่งอนุรักษ์ฟื้นฟูสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นส่วนอนุรักษ์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี จึงจัดโครงการดังกล่าวขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีแผนแม่บท กรอบแนวทางในการพัฒนาศักยภาพ พื้นที่ทัศนศึกษาธรรมชาติเชิงสัตว์ป่า บริเวณพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ในการนี้เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมและสื่อสารให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในการดำเนินโครงการ และให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แสดงข้อคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะอันจะเป็นประโยชน์ในการประกอบการออกแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งผู้เข้าร่วมในการประชุมประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา ผู้แทนประชาชนในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์
สำหรับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกามีพื้นที่ 248,987 ไร่ ครอบคลุมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่จังหวัดเพชรบูรณ์ ชัยภูมิ และลพบุรี สำหรับจังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่รอยต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกาในพื้นที่ อ.วิเชียรบุรีและอำเภอศรีเทพ โดยในป่าซับลังกา ถือเป็นเป็นป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารของสัตว์ป่า มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด มีเลียงผาซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนอาศัยอยู่ รวมทั้งมีช้าง กวางป่า ละมั่ง เสือไฟ รวมทั้งมีความงดงามของป่าเขาลำเนาไพร และพันธุ์พืชที่แปลกตา รวมทั้งจุดชมวิวยอดเขาพังเหย ผาส่งตะวัน ที่มีความสูง 846 เมตรสามารถมองเห็นทิวทัศน์ อ.วิเชียรบุรีและศรีเทพ ทั้งนี้ ในการสำรวจ ออกแบบแปลน วางผังพื้นที่ใช้เวลา 360 วัน ตั้งแต่วันที่ 15กันยายน 2560 -10 กันยายน 2561 โดยจะมีการประชุมกลุ่มย่อยในพื้นที่จังหวัดที่เกี่ยวข้องในเดือน เม.ย. – พ.ค. 2561 และประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการในช่วงเดือนกรกฏาคม 2561 ต่อไป
https://drive.google.com/file/d/1OIm7M2Q3DpnuA1vbztMh_Sy1zc7RM8V2/view?usp=sharing
มนสิชา คล้ายแก้ว ผู้สื่อข่าวจังหวัดเพชรบูรณ์