นิตยสารอังกฤษระบุว่าอย่าหวังให้ คสช.ทำเซอร์ไพร์ส
นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ฉบับล่าสุดวิจารณ์สถานการณ์ในไทยตอนนี้ว่าเศรษฐกิจกำลังหยุดชะงัก ขณะที่
คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.เองมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ และสรุปว่าอย่าหวังให้ คสช.
ทำอะไรที่คาดไม่ถึง
ในบทความใต้พาดหัว “สงบ เรียบร้อย ย่ำอยู่กับที่”ดิ อีโคโนมิสต์ระบุว่า สิ่งที่เมืองไทยขาดแคลนอยู่ในขณะนี้
คือ ความมุ่งมั่นที่จะใช้กฎธรรมาภิบาล ระบบการเงินที่มีการควบคุมอย่างดี และโปร่งใส
“สิ่งที่ทหารต้องการเหนือสิ่งใดคือให้ ‘คนดี’ แต่ไม่ใช่คนที่ประชาชนนิยมโดยผ่านการเลือกตั้งเข้ามาบริหาร
ประเทศ เป็นที่น่าชื่นชมอยู่ที่ คสช. แสดงความตั้งใจที่จะให้เกิดความปรองดอง ระหว่างกลุ่มเสื้อแดงที่นิยม
ทักษิณ กับฝ่ายตรงกันข้ามซึ่งทำกรุงเทพฯ เป็นง่อยไประหว่างการชุมนุมครั้งมโหฬารเมื่อปลายปีที่แล้ว
ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่หวังไม่ค่อยได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทหารจะเปิดให้นักการเมืองฝ่ายทักษิณ เข้ามา
มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือเข้ามาจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป”
นิตยสารดังกล่าวระบุถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า เป็นสภาตรายางเพราะเต็มไปด้วยทหารและคณะบุคคล
จากกลุ่มอำนาจเก่า แต่เสริมว่า คสช.ก็มีโครงการที่เป็นเชิงปฏิรูปอยู่ด้วย อาทิ ความตั้งใจที่จะลดความ
เหลื่อมล้ำและการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เลือกปฎิบัติ ข้อเสนอเชิงประชานิยมหลาย ๆ เรื่อง เช่น
การปฏิรูประบบการรักษาพยาบาล ก็คัดเอามาจากตำราของ พ.ต.ท. ทักษิณ
แต่การจะหาคนที่มีความรู้และประสบการณ์ให้เข้ามาเชิดหน้าชูตาระบบใหม่ดูจะยาก เช่น ตำแหน่งรัฐมนตรี
ต่างประเทศที่พยายามจะดึง นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เข้ามา เพราะเขาเป็นคนที่ได้
รับความเชื่อถือสูงมากทั้งในและนอกประเทศ แต่ คสช. ก็โน้มน้าวนายสุรินทร์ไม่ได้ นักการทูตในเอเชีย
ตะวันออกเฉียงใต้หลายคนบอกว่ากระทรวงการต่างประเทศของไทยกำลังง่อยเปลี้ยเพราะขาดแนวทาง
คสช. ดูจะรู้ตัวว่ามีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ ดิ อีโคโนมิสต์บอก ซึ่งเรื่องนี้สำคัญเพราะตอนนี้เน้นแต่ความมั่นคง
ทางการเมืองขณะที่สภาพเศรษฐกิจยังตึงเครียด ภาวะเศรษฐกิจในปีนี้หดตัวอย่างแรง การส่งออกซึ่งเป็นภาค
ที่ต้องพึ่งมากที่สุดก็ไม่ขยายตัว แถมระดับหนี้สินครัวเรือนที่สูง ยิ่งทำให้ปัญหาซับซ้อนขึ้น ในปีนี้เศรษฐกิจ
ประเทศไทยทำท่าว่าจะซบเซาที่สุดในบรรดาประเทศเอเชีย การฟื้นฟูเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนของ คสช.
ดิ อีโคโนมิสต์คิดว่าประชาธิปไตยในเมืองไทยนั้นคงเป็นเรื่องที่ต้องรอไปก่อน เพราะแม้
พล อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดว่าจะให้มีการเลือกตั้งประมาณเดือนตุลาคมปีหน้า แต่ คสช. ไม่ได้บอก
ว่าจะตั้งข้อจำกัดอะไรบ้างหากว่าเป้าหมายของการทำรัฐประหารครั้งนี้กับครั้งก่อนหน้าก็เพื่อล้มล้างระบบ
เลือกตั้งที่กำหนดให้ผู้ชนะคือผู้กุมเสียงเด็ดขาดซึ่งเอื้อต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างดี ก็ชวนให้น่าสงสัย
อยู่เหมือนกันหากจะไม่มีการตั้งข้อจำกัดอะไรเลย นอกจากนี้ เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งจะเป็นฉบับที่
20 ของไทย จะผ่านการลงประชามติหรือไม่ก็ยังไม่ชัดเจน
นิตยสารของอังกฤษกล่าวต่อไปว่า คนไทยส่วนใหญ่อยากเห็นว่าสักวันหนึ่งประเทศจะได้กลับคืนสู่ภาวะมั่งคั่ง
และเป็นผู้นำทางประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยตั้งแต่ช่วง
ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ช่วยยกระดับรายได้ และโอกาสการศึกษาแก่พลเมือง แต่ขณะนี้บรรดาเสาหลัก
ที่ช่วยค้ำจุนความมั่งคั่งในอนาคตกำลังง่อนแง่น
“การที่ทหารกำลังนำสังคมไทยย้อนยุคอยู่ในขณะนี้คงไม่มีใครหยุดยั้งได้โดยทางกฎหมาย คนไทยจำนวน
ไม่น้อยก็คงอยากให้โอกาส แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งบรรดาผู้นำที่ตั้งตัวเองขึ้นมา ก็คงไม่สามารถที่จะคงอยู่ต่อไป
คสช.เองอาจจะทำสิ่งที่คาดไม่ถึงได้อย่างผลักดันการปฏิรูป เยียวยาความร้าวฉานในสังคม และฟื้นฟู
ประชาธิปไตย แต่ก็อย่าไปหวังอะไรให้มากมาย” ดิ อีโคโนมิสต์ สรุป