ยูเอ็นเรียกร้องไทยสอบสวนกรณีกริชสุดา ชี้วิธีคุมตัวโดยไม่ให้พบใครน่าห่วง
โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมุนษยชนสหประชาติแถลงแสดงความวิตกกังวลต่อวิธีการจับกุม
และควบคุมตัวบุคคลที่เป็นนักการเมือง นักกิจกรรม นักวิชาการตลอดจนสื่อในเมืองไทยหลังการรัฐประหาร
โดยบอกว่า วิธีการที่ผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวไม่สามารถติดต่อกับใครได้อาจเป็นเงื่อนไขให้มีการละเมิด
สิทธิรวมไปถึงถูกซ้อมทรมานได้
คำแถลงของราวินา ชัมดาซานี โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นยังเรียกร้อง
ให้ทางการไทยสอบสวนข้อกล่าวหาที่ว่าได้มีการทำร้ายนส.กริชสุดา คุณะแสน ในระหว่างที่เธอถูกควบคุมตัว
พร้อมกับนำตัวผู้กระทำมาลงโทษหากเป็นความจริง พร้อมกับระบุว่า ตามกฎหมายระหว่างประเทศและ
ตามนโยบายของยูเอ็น การนิรโทษกรรมทำไม่ได้ถ้าทำให้ไม่มีการนำตัวผู้กระทำผิดอย่างในกรณีที่
ค่อนข้างหนักรวมถึงการซ้อมทรมานมาลงโทษได้
ในเอกสารที่สำนักงานแจกจ่ายออกมาวันนี้ (5 สค.) ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ 22 พค.มีการเรียกตัวและจับกุม
บุคคลไปกว่า 700 คน แม้ว่าจำนวนมากจะได้รับการปล่อยตัวภายในเวลาสัปดาห์หนึ่ง ซึ่งเป็นไปตาม
กฎอัยการศึก แต่อีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ชัดว่าเท่าไหร่ถูกคุมตัวมากกว่าเจ็ดวันโดยที่ไม่ได้ติดต่อญาติหรือ
ทนาย ถ้อยแถลงของโฆษกสำนักงานชี้ว่า จุดนี้ทำให้น่าวิตกว่าการคุมตัวในลักษณะดังกล่าว จะสร้าง
เงื่อนไขในอันที่จะทำให้มีการละเมิดสิทธิได้ พร้อมกับระบุว่า กรณีกริชสุดา คุณะแสน ว่าเป็นตัวอย่าง
ที่ทำให้น่าวิตกมากขึ้น
โฆษกของสำนักงานให้รายละเอียดว่า ข้อมูลที่นส.กริชสุดาบอกเล่ากับสื่อและองค์กรสิทธิ
มีรายละเอียดว่า เธอถูกจับตั้งแต่ 28 พค.ถูกปิดตาไว้เจ็ดวันเต็ม ถูกทำร้ายและช่วงหนึ่งหมดสติ
เพราะมีการใช้ถุงดำครอบศรีษะ
ในส่วนของการดำเนินการของสำนักงานเอง โฆษกสำนักงานให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 16 กค. ข้าหลวงใหญ่
ด้านสิทธิมนุษยชนได้แสดงความวิตกกับทางการไทยถึงการที่ไม่มีข้อมูลเรื่องของนส.กริชสุดาออกมา
สู่สาธารณะ และก่อนหน้านั้นเมื่อ 11 มิย. ข้าหลวงใหญ่ได้สื่อสารกับทางการไทยว่า การใช้มาตรการ
ฉุกเฉินใดๆจะต้องเคารพมาตรฐานทั่วไปในเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมือง
และสิทธิทางการเมืองซึ่งไทยเป็นผู้ร่วมลงนามด้วย รวมทั้งไม่อาจละเมิดหลักการในเรื่องสิทธิในการ
สามารถใช้ชีวิตของตนเองและไม่ถูกทำร้ายไม่ว่าในกรณีใดๆ และบอกว่าจนถึงบัดนี้ทางการไทยยัง
ไม่ได้ตอบสนองหรือแสดงปฏิกิริยาต่อข้อกังวลเหล่านี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างใด
ทางด้านเจ้าหน้าที่ขององค์การนิรโทษกรรมสากลเปิดเผยว่า ได้พูดคุยกับนส.กริชสุดาแล้ว เตรียมนำ
ข้อมูลในเรื่องนี้ใส่ไว้ในรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยซึ่งคาดว่าจะเผยแพร่
ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมนี้
ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติกล่าวไว้ว่า ทางการไทย
ได้พบปะกับตัวแทนขององค์การนิรโทษกรรมสากล หลังจากมีการพูดคุยกันแล้วพบว่า
นิรโทษกรรมสากลมีความเข้าใจในสถานการณ์ในไทยมากขึ้น