เครดิต บูโรปล่อยผี ลูกหนี้รายเล็กเบี้ยวหนี้เกิน 8 ปี วงเงินไม่เกิน 10,000 บาท โละชื่อออกจากฐานข้อมูล
เตรียมออกประกาศ กันยายนนี้ เผยลอตแรก 6 แสนราย ย้ำชัดแค่ถอนชื่อออก แต่ภาระหนี้ยังมีอยู่
ฟากนายแบงก์ยันรับมาตรการนี้ได้ ชี้ดูรายได้ปัจจุบัน-ภาระหนี้เป็นหลัก
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผย
“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กคค.) ซึ่งมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) เป็นประธาน กำลังพิจารณาเตรียมออกประกาศฉบับใหม่ เกี่ยวกับเรื่องการจัดเก็บข้อมูลของ
เครดิตบูโร โดยจะให้ถอนชื่อลูกหนี้รายย่อยที่ผิดนัดชำระเกิน 8 ปี และมีมูลหนี้ไม่เกิน 10,000 บาทออก
จากฐานข้อมูลเครดิตบูโร เนื่องจากที่ผ่านมา สถาบันการเงินจะแจ้งข้อมูลสถานะเครดิตของลูกหนี้เข้ามา
รวมไว้ที่เครดิตบูโร ย้อนหลังได้ถึง 36 เดือน ซึ่งในรายที่มีสถานะผิดนัดชำระ และยอดหนี้ น้อยมาก
ไม่เกิน 10,000 บาท สถาบันการเงินก็มักจะไม่ยื่นฟ้องดำเนินคดี เพราะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย แต่จะแสดง
การค้างชำระต่อไปเรื่อย ๆ
จากการตรวจสอบพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่เกิดความผิดพลาดของลูกหนี้ และมีบางส่วนที่เป็นลูกหนี้
ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งขายหลักทรัพย์มาใช้หนี้แล้วแต่ยังเหลือ
เงินค้างบางส่วน ทั้งธนาคารและลูกหนี้ก็ไม่ได้ติดตามหนี้กันมานาน แต่ยังมีรายงานสถานะเครดิตว่า
ผิดนัดชำระมาตลอด จึงเป็นเหตุให้ลูกหนี้เหล่านี้ไม่สามารถกลับเข้ามาใช้บริการสินเชื่อในระบบ ได้
และต้องหันไปหาสินเชื่อนอกระบบแทน ซึ่งเป็นนโยบายที่ภาครัฐและ ธปท.พยายามแก้ไขอยู่
“ประกาศฉบับนี้เหมือนเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชน ที่เคยมีปัญหาข้อมูลค้างในเครดิตบูโรมายาวนาน
ซึ่งคณะกรรมการมองแล้วว่า สมควรแก่เหตุ เนื่องจากเป็นลูกหนี้รายเล็กที่มียอดหนี้ผิดนัดชำระน้อยมาก
ไม่เกิน 10,000 บาท เพื่อให้สามารถกลับตัวและมีโอกาสเข้ามาใช้บริการสินเชื่อในระบบได้อีกครั้ง”
นายสุรพลกล่าว
ทั้งนี้ คาดว่ามีลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวประมาณ 6 แสนราย จากจำนวนลูกหนี้ที่อยู่ในฐานข้อมูล
เครดิตบูโรกว่า 27 ล้านราย คาดว่าภายในเดือน ก.ย.นี้ กคค.น่าจะออกประกาศดังกล่าวได้
ก่อนหน้า นี้นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ได้ให้คณะกรรมการไปศึกษาแนวทางจัดการ
ปัญหาลูกหนี้รายเล็กที่มีข้อมูลค้าง ชำระเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่าในหลายประเทศใช้วิธีกำหนดระยะ
เวลาการจัดเก็บข้อมูลเอาไว้เช่นกัน กรณีประเทศสหรัฐอเมริกาจัดเก็บข้อมูลไว้เพียง 7 ปี หากเจ้าหนี้
ไม่ดำเนินการแก้ไขก็จะถอดข้อมูลออกจากเครดิตบูโร ขณะที่ประเทศอังกฤษก็ใช้วิธีเดียวกัน
แต่เก็บข้อมูลไว้เพียง 6 ปีเท่านั้น
นาย สุรพลย้ำว่า การถอนรายชื่อลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ตามประกาศที่จะออกมาดังกล่าวนั้น เป็นการถอน
ออกจากฐานข้อมูลของเครดิตบูโรเท่านั้น มิได้หมายความว่าหนี้สินต่าง ๆ ที่ลูกหนี้ค้างอยู่กับสถาบัน
การเงินจะหมดสิ้นไปด้วย ลูกหนี้ยังคงมีภาระใช้คืนหนี้เช่นเดิม เพียงแต่จะไม่ได้แสดงรายการข้อมูลนี้
ในเครดิตบูโร หลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางสถาบันการเงินว่าจะไปดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งอาจตัดเป็น
หนี้สูญ ขายหนี้ออกให้บริษัทรับจ้างติดตามหนี้ หรือยื่นฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดี
ด้านนายฐากร ปิยะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด
(กรุงศรี คอนซูเมอร์) กล่าวว่า การแก้กฎหมายดังกล่าว คงไม่กระทบต่อการทำงานของสถาบันการเงิน
จนเกิดความเสี่ยงเร่งตัวขึ้นอย่างมี นัยสำคัญ เนื่องจากปกติบริษัทก็ปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้าที่มีประวัติ
การค้างชำระหนี้ใน เครดิตบูโรอยู่แล้ว หากสามารถพิสูจน์เจตนาได้ และคุณสมบัติทางการเงินอื่น ๆ
ผ่านเกณฑ์
ส่วนการบริหารจัดการลูกหนี้กลุ่มนี้ หากพบว่ามีมูลหนี้น้อยกว่า 1,000 บาท ค้างชำระมาหลายปี
บริษัทจะตัดเป็นหนี้สูญเลย แต่ถ้าเกินนั้นก็จะติดตามหนี้ตามปกติ แต่ก็ต้องดูว่าคุ้มค่ากับต้นทุนค่าติดตาม
ทวงหนี้หรือไม่ หรือบางรายอาจขาดทุนด้วยซ้ำ โดยปัจจุบันบริษัทมีหนี้เสียสินเชื่อบัตรเครดิตประมาณ
1.3-1.4% ของสินเชื่อรวม ขณะที่หนี้เสียสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 3.2-3.3%
“ถ้า เครดิตบูโรล้างหนี้ให้ลูกค้ากลุ่มนี้ เราก็จะมีประวัติลูกค้ากลุ่มนี้แค่ในส่วนที่เป็นลูกค้าของเรา หาก
ลูกค้าสถาบันการเงินอื่นที่เคยถูกล้างชื่อไปแล้วมาขอ เราไม่มีประวัติก็อาจเป็นความเสี่ยงได้ แต่ก็คง
จะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบมากมายนัก”
ส่วนนายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของเครดิต
บูโรดังกล่าว เพราะเชื่อว่าส่วนใหญ่ลูกหนี้ไม่มีเจตนาที่จะค้างชำระหนี้ แต่ช่วงหนึ่งอาจประสบปัญหาในชีวิต
ซึ่งการล้างข้อมูลดังกล่าวก็เหมือนเป็นการให้โอกาสกับเขากลับเข้ามาสู่ระบบ การเงินได้อีกครั้ง ปกติธนาคาร
จะดูข้อมูลเครดิตบูโร 3 ปีย้อนหลัง ทั้งประวัติการชำระหนี้ ประกอบกับหน้าที่การทำงาน รายได้ หนี้ต่อรายได้
หากผ่านเกณฑ์ก็ปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว
ขณะที่นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเช่นกันว่า ส่วนใหญ่
ธนาคารจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากความสามารถของลูกค้าเป็นหลัก หากเครดิตบูโรต้องการล้างรายชื่อ
ลูกหนี้รายเล็ก ๆ ที่ผิดนัดชำระมานานออกไปจากระบบ ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าสินเชื่อบุคคล ซึ่งธนาคาร
กำหนดเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำไว้ที่ 15,000 บาทต่อเดือนอยู่แล้วเป็นกลุ่มที่มีความสามารถชำระหนี้ดีพอ
มีแรงต้านทานพอสมควรหากปัจจัยทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ปัญหาการผิดนัดชำระจำนวนเงิน
เล็กน้อยไม่น่าจะมีนัยมากนัก