ไอรอน โดม (Iron Dome) เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศทุกกาลอากาศเคลื่อนที่
พัฒนาโดยบริษัท Rafael Advanced Defense Systems โดยมีรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ทุนในการสนับสนุน
การพัฒนา และยังมีบริษัทเรธีออน ส่งทีมร่วมวิจัยเพื่อนำมาใช้งานร่วมกับระบบป้องกันภัยทางอากาศของ
กองทัพบกสหรัฐฯ อย่าง C-RAM หลัง ทบ.สหรัฐฯ สนใจในประสิทธิภาพการทำงาน และมีข่าวเมื่อช่วงต้นปี
2555 ว่า ทางกองทัพสหรัฐฯ ให้ความสนใจซื้อไปใช้งานในมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจะนำเอา
ไปวางกำลังในอิรักและอัฟกานิสถาน เพื่อป้องกันหน่วยทหารของสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทาง
อากาศที่มาจากจรวด Katyusha ขนาด 107 มม.ที่ถูกค้นพบว่ามีการใช้ในอิรักมาก่อน
ไอรอน โดม ถูกออกแบบมาให้ใช้ในการสกัดกั้นและทำลายจรวดและกระสุนปืนใหญ่ ที่ยิงมาจากระยะ 4-70 กม.
ฐานยิงมีรัศมีครอบคลุมในการป้องกัน 150 ตร.กม.โดยขีปนาวุธมีมูลค่าลูกละ 40,000 เหรียญ และฐานยิงมี
มูลค่าประมาณ 50 ล้านเหรียญ ปรากฏตัวครั้งแรกในการทดสอบเมื่อเดือน มี.ค.2554 และในวันที่ 7 พ.ค.
ปีเดียวกันก็ประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นจรวดที่ถูกยิงมาจากฉนวนกาซา ขณะที่สื่ออิสราเอลรายงานว่า
ไอรอนโดมสามารถสกัดจรวดที่ถูกยิงมาจากฉนวนกาซาได้มากกว่า 90% หรือตลอดทั้งเดือน สกัดไปกว่า
93 นัด อีกทั้งยังสามารถใช้ไอรอนโดมสกัดกันเครื่องบินรบได้ในระดับความสูงไม่เกิน 10,000 ฟุตอีกด้วย
ระบบไอรอน โดม ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ ในการทำงาน ได้แก่
1.ระบบตรวจจับและติดตามเป้าด้วยเรดาร์ ที่ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัท Elta ของอิสราเอล
2.ระบบควบคุมอาวุธและอำนวยการรบ (BMC) ที่เป็นศูนย์ควบคุมการทำงาน สร้างโดย mPrest Systems
ที่เป็นบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับ Rafael
3.หน่วยยิงอาวุธปล่อย (Missile Firing Unit) ที่เป็นหน่วยยิงอาวุธปล่อยพื้น-สู่-อากาศ ทาร์เมีย
(Tarmir Interceptor Missile) ที่ติดระบบนำวิถีอิเล็กโทรออปติคอล และครีบควบคุมทิศทางที่มี
ความคล่องแคล่วสูง พร้อมชนวนจุดระเบิดแบบเฉียดระเบิด สร้างขึ้นโดย Rafael