ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตร จังหวัดชัยนาท ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ได้ดำเนินการตามภารกิจกรมส่งเสริมการเกษตรภายใต้โครงการ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ จัดทำแปลงสาธิตต้นแบบเกษตรอัจฉริยะโดยเปรียบเทียบกรรมวิธีเกษตรอัจฉริยะกับกรรมวิธีของเกษตรกร ซึ่งดำเนินงานในแปลงของ โดยการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ในแปลงต้นแบบให้เป็นจุดเรียนรู้ระบบบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรแม่นยำสำหรับให้เกษตรกรนำใช้ในการบริหารจัดการแปลง
นายสุชาติ อ่อนดำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า “กรมส่งเสริมการเกษตรมีนโยบายส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะโดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน สร้างรายได้ให้เกษตรกร และพัฒนาภาคเกษตรให้มีความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชน เพื่อร่วมกันพัฒนาและขยายผลการใช้เทคโนโลยีในวงกว้าง เพื่อยกระดับภาคเกษตรไทยให้มีความทันสมัย แข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล”
ทั้งนี้ ดร.วิไลวรรณ สอนพูล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตร จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า “ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตร จังหวัดชัยนาท ได้สนับสนุนและพัฒนาแปลงต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ จำนวน 1 แปลง เกษตรกรผู้เป็นเจ้าของแปลง คือ นายสุรัตน์ โพธิ์ดี ในพื้นที่ 10 ไร่ ณ ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ดำเนินการสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกาผลิตในแต่ละกระบวนการของการผลิต การจัดการแปลง การบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ เครื่องจักรกลสมัยใหม่ และเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพของผลิตผล เช่น การใช้โดรนเพื่อฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและปุ๋ย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการฉีดพ่นยาและปุ๋ย ลดการใช้แรงงานคน และลดต้นทุนการผลิต การใช้รถแทรกเตอร์ และรถเก็บเกี่ยวอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว ลดการใช้แรงงานคน และลดต้นทุนการผลิต การปรับพื้นที่/การเตรียมดิน และกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ ปีงบประมาณ 2567” จากการทดลอง พบว่า สามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต ลดปัจจัยด้านแรงงาน สามารถเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรทั่วไปที่จะเรียนรู้และนำแนวทางการดำเนินการแปลงไปปรับใช้ได้ในแปลงของตนเอง
จากการดำเนินการตามภารกิจกรมส่งเสริมการเกษตรภายใต้โครงการ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ นำไปสู่การพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิตอ้อยโรงงานด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิตอ้อยโรงงานด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ระหว่าง บริษัท ซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท น้ำตาลสิงห์บุรี จำกัด สำนักงานเกษตรจังหวัดสิงห์บุรี และกลุ่มแปลงใหญ่อ้อยตำบลเชิงกลัด ณ สำนักงานเทศบาลเมืองบางระจัน ตำบลสิงห์ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 โดยมีเจตนารมย์เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิตอ้อยโรงงานให้มีผลผลิตสูง มีคุณภาพ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำและการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความเข้มแข็งและยกระดับรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยโรงงาน ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพื่อเพิ่มผลผลิต คุณภาพอ้อยโรงงาน และยกระดับรายได้ของเกษตรกร โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (2) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และพัฒนาทักษะแรงงานในภาคการเกษตร โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเกษตรกร โรงงานน้ำตาล และหน่วยงานภาครัฐ (3) เพื่อส่งเสริมการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำสูง
ข่าว : นางสาวสุวรรณี แนวทองหลาง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตร จังหวัดชัยนาท // รายงาน