วันที่ 11 ธันวาคม 2567 เวลา 09.30 น. ณ องค์การบริหารส่วนตำบลพุคา ตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานในพิธีมอบกรรมสิทธิ์และไถ่ชีวิตโค-กระบือ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี นายสัตวแพทย์จรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ของจังหวัดลพบุรี เข้าร่วมในพิธี
นายสัตวแพทย์จรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า เนื่องในปี 2567 เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญ พระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา กรมปศุสัตว์ ได้จัดทำโครงการมอบกรรมสิทธิ์และไถ่ชีวิต โค-กระบือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 31 ธันวาคม 2567 เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อกรมปศุสัตว์ โดยจัดให้มีกิจกรรมประกอบด้วย กิจกรรมไถ่ชีวิตโค-กระบือ เพื่อนำไปส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร กิจกรรมมอบกรรมสิทธิ์โค-กระบือ ที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการเป็นกรณีพิเศษ และ กิจกรรมบริการด้านสุขภาพสัตว์ของโครงการธนาคาร โค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ
ในการนี้ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี ได้จัดกิจกรรมมอบกรรมสิทธิ์โค-กระบือ แก่เกษตรกร ที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขระเบียบและหลักเกณฑ์โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริและมอบกรรมสิทธิ์แก่เกษตรกรที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการฯ เป็นกรณีพิเศษ โดยมีเงื่อนไขว่าเกษตรกรที่ส่งมอบลูกโค-กระบือ ตัวที่ 1 ที่มีอายุครบ 18 เดือน คืนให้โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 สามารถมอบกรรมสิทธิ์ตามสัญญายืมเพื่อการผลิตได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ครบระยะเวลา 5 ปีตามเงื่อนไขของสัญญา รวมจำนวนเกษตรกร ทั้งสิ้น 100 ราย จำนวนแม่โค-กระบือ ทั้งสิ้น 110 ตัว และ รวมมูลค่าแม่โค-กระบือ ที่มอบกรรมสิทธิ์ ทั้งสิ้น 2,512,600 บาท รวมถึงการมอบเวชภัณฑ์และแร่ธาตุให้แก่กลุ่มเกษตรกรของจึงหวัดลพบุรี ภายใต้โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ อีกด้วย
สำหรับ โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งกรมปศุสัตว์รับสนองพระราชดำริ ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2522 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีโค-กระบือไว้ใช้แรงงาน และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ถือได้ว่าเป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในการดำเนินงาน ประกอบกับมีการทำงานบูรณาการร่วมกัน ในพื้นที่อย่างเป็นระบบ สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกร และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งตลอดจนมีการต่อยอดการใช้ประโยชน์ และการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่น
นันท์นภัส วงศ์ใหญ่
ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวภาคกลางหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ