วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมไอบิส กรุงเทพ ริเวอร์ไซด์ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจ เทคโนโลยี (BID) ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวง (อว.) ดร.วัฒนจักร พุ่มวิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ (ผกอ.) และ ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ผธท.) พร้อมด้วย กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย ขับเคลื่อนโครงการยกระดับขีดความสามารถหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปี พ.ศ.2567 ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ “The Right Way to Mature Incubator” เพื่อพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจให้สามารถรองรับการสร้างผู้ประกอบการใหม่ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งเป็นการเสริมความรู้หลากหลายมิติโดยในปีนี้มุ่งเน้นที่ประเด็นแนวทางที่เน้นการลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ โดยใช้แนวคิดแบบ Lean Startup ร่วมกับกระบวนการที่มุ่งเน้นการทดสอบและพัฒนาโมเดลธุรกิจ (Business Model) การเสริมความรู้ด้านการส่งออกให้กับผู้ประกอบการ และการพัฒนาศักยภาพส่วนบุคคล เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและสร้างความได้เปรียบในยุคดิจิทัล ผนวกรวมเข้ากับการเชื่อมโยงทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ ผลักดันธุรกิจนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกและสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ
สำหรับหน่วยบ่มเพาะธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการยกระดับขีดความสามารถหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ประจำปี พ.ศ.2567 จำนวน 5 แห่ง ได้แก่
• หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
• หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
• หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
• ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
• ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยผู้เชี่ยวชาญขั้นสูงและที่ปรึกษาด้านบ่มเพาะธุรกิจระดับโลก นำหลักเกณฑ์ประเมินจาก PwC ร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึก มาประเมินผลการดำเนินงาน พร้อมให้ข้อเสนอแนะการบริหารจัดการหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ให้แต่ละหน่วยบ่มเพาะภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน
นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ BID กล่าวว่า ผลการประเมินเบื้องต้นและความสำเร็จ หน่วยบ่มเพาะฯ มีการพัฒนาโปรแกรมบ่มเพาะที่หลากหลาย มีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น พื้นที่ Co-working Space ห้องปฏิบัติการ และระบบสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ หน่วยบ่มเพาะยังได้รับคำแนะนำในด้านการกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ การพัฒนากระบวนการติดตามผล และการสร้างระบบที่เชื่อมโยงข้อมูลผู้ประกอบการกับเป้าหมายในระยะยาว แผนการดำเนินงานในอนาคต สวทช. เตรียมนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ที่รวบรวมข้อค้นพบและข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์แก่หน่วยบ่มเพาะธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ ภายในเดือนธันวาคม 2567 เพื่อช่วยวางแผนและปรับปรุงการดำเนินงานในปีต่อไป พร้อมผลักดันความร่วมมือระหว่างหน่วยงานบ่มเพาะธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการไทย แสดงถึงความตั้งใจของ สวทช. ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เติบโตในเวทีโลก โดยการพัฒนาศักยภาพในระดับองค์กรของหน่วยบ่มเพาะ พร้อมเสริมสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน
หน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (Technology Business Incubator – TBI) มีหน้าที่หลักในการสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เติบโตและประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจสนับสนุนการสร้างธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ พร้อมทั้งผลักดันการนำผลงานวิจัยเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสิทธิและการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ยังเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ เพื่อสนับสนุนบทบาทดังกล่าว คณะทำงานเพื่อส่งเสริมการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้น ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ โดย สวทช. ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ดำเนินการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีในเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยศึกษาแนวปฏิบัติและกรณีศึกษาจากประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น รองผู้อำนวยการ นาโนเทค กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ การอบรมเชิงปฏิบัติการ “The Right Way to Mature Incubator” ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญที่ครอบคลุมการพัฒนาศักยภาพของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจในหลากหลายด้าน เริ่มต้นด้วย การนำ Lean Launch Approach มาใช้ในโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจ โดย Mr.Julian Webb และ Ms.Thea Chase ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจาก CREEDA Projects Pty Ltd. ที่มีประสบการณ์กว่า 36 ปี ในการพัฒนาหน่วยบ่มเพาะธุรกิจในกว่า 50 ประเทศ ซึ่งช่วยให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้วิธีการสร้างกระบวนการบ่มเพาะที่มีประสิทธิภาพจากแนวปฏิบัติระดับสากล ต่อด้วยหัวข้อ การประเมินความพร้อมสู่ตลาดส่งออก โดยทีมผู้เชี่ยวชาญจาก EXIM BANK นำโดย คุณจันทร์ฉาย พิทักษ์อรรณพ และ คุณมูฮำหมัดกัฟดาฟี มะทา ซึ่งเน้นการให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมการวิเคราะห์ความพร้อมและโอกาสในการขยายธุรกิจ สุดท้ายคือหัวข้อ การนำ Generative AI และ ChatGPT มาใช้ในธุรกิจ โดย คุณกำพล ลีลาภรณ์ CEO บริษัท PiR Academy และทีมผู้ช่วยวิทยากร ที่มุ่งสอนการใช้งาน AI และ ChatGPT ในการพัฒนาโมเดลธุรกิจ การจัดการข้อมูล และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพื่อให้หน่วยบ่มเพาะและผู้ประกอบการสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว