วันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 ณ บริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ : มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สโมสรโรตารี่ประเทศไทย ภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุภาครัฐ ภาคเอกชน ได้ร่วมกันจัดงานวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน (World Day of Remembrance for Road Traffic Victims) ขึ้น โดยมีบุคคลสำคัญจากองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมงาน อาทิเช่น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน รัฐสภา ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร HE. Mr.Jean-Claude Poimbœuf เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย นายนิกร จำนง ประธานกรรมการมูลนิธิประชาปลอดภัย Mr. Ishtiaque Ahmed, Economic Affairs Officer, Sustainable Transport Section, Transport Division, UNESCAP ผู้แทน UNESCAP,Thailand Dr.Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย Mr.Dave Thomas อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย นางสาวภัทร์ศรี สุวิมล ผู้ว่าการโรตารี่ ภาค 3350 ผู้แทนโรตารี่ประเทศไทย นายปรีชา กลิ่นแก้ว เลขาธิการโครงการถนนปลอดเหตุชีวิตปลอดภัย โรตารี่ประเทศไทย นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล (คุณแม่หมอกระต่าย) นายมหาโภคัย ขำกระแสร์ บิดาเด็กชายณัฐพงศ์ ขำกระแสร์ ครอบครัวเหยื่อรถบัสนักเรียน จังหวัดอุทัยธานี นายอนุสรณ์ แก้วใจ (บิดา) นางสุจิตร รอดจิตร์ (มารดา) (เด็กชายสิริณัฏฐ์ แก้วใจ) ครอบครัวเหยื่อรถบัสนักเรียน จังหวัดอุทัยธานี นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งSocial Lab Thailand นางสาววารุณี ซื่อสัตย์สกุลชัย ผู้จัดการแผนกกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท วิริยะประกันภัยจำกัด (มหาชน) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ผู้แทนมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ผู้แทนมูลนิธิร่วมกตัญูญู ผู้แทนสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ผู้แทนสำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 2 แขกผู้มีเกียรติ พร้อมด้วยเหยื่อเมาแล้วขับผู้สูญเสีย ร่วมงานด้วยเป็นจำนวนมาก
นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ในฐานะฝ่ายประสานงานการจัดงานวันโลกรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน (World Day of Remembrance for Road Traffic Victims) เปิดเผยว่า ย้อนหลังไปในอดีต ภัยธรรมชาติได้สร้างความสูญเสียให้กับประชากรโลกเป็นอันดับหนึ่ง แต่ล่วงมาถึงปัจจุบัน ภัยจากน้ำมือมนุษย์ได้สร้างความหายนะให้กับประชากรโลกมากกว่าภัยธรรมชาตินับร้อยนับพันเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอุบัติเหตุจราจรที่ได้คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ ในปีหนึ่ง ๆ ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน หรือเฉลี่ยวันละ 4,100 คน สำหรับประเทศไทยผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 17,000 คนต่อปี บาดเจ็บอีกปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน
เหตุนี้องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดให้วันอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันโลกรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน (World Day of Remembrance for Road Traffic Victims) เพื่อเชิญชวนให้คนทั่วโลกได้รำลึกถึงผู้ที่จากไปจากอุบัติเหตุจราจร สำหรับประเทศไทย มูลนิธิเมาไม่ขับได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุภาครัฐ เอกชน โดยการสนับสนุนจากสำนักงาน
ยูเอ็นเอสแครป ประจำประเทศไทย จัดงานวันโลกรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2549 ทั้งนี้เพื่อเป็นการเชิญชวนให้คนไทยร่วมรำลึกถึงเหยื่อจากอุบัติเหตุจราจรที่จากไป ต่อมาสมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันโลกรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ( World Day of Remembrance for Road Traffic Victims) และเป็นวันสำคัญของชาติตามประกาศขององค์การสหประชาชาติ
เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า มูลนิธิเมาไม่ขับและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทำงานขับเคลื่อนเพื่อการลดอุบัติเหตุทางถนนมายาวนาน สิ่งที่คาดหวังและอยากเห็นมากที่สุดในชีวิต คือรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นชุดใดที่เข้ามาบริหารประเทศให้ความสำคัญกับการลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นรูปธรรม มีการกำหนดตัวชี้วัดชัดเจน เพราะความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนมีมูลค่ามหาศาล คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี คนไทยต้องสังเวยชีวิตบนท้องถนนปีละ 17,000 คน บาดเจ็บเกือบ 1 ล้านคน จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมบนท้องถนนที่คนไทยต้องเผชิญ อยากขอวิงวอนรัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะคนรุ่นใหม่ กำหนดนโยบายหยุดโศกนาฏกรรมบนท้องถนนอย่างจริงจัง โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนช่วยเจ้าหน้าที่จัดการกับคนที่ไม่เคารพกฎแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน เพราะลำพังเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ตนเชื่อว่าปัจจุบันประชาชนที่ขับขี่รถบนท้องถนนมีกล้องหน้ารถ มีโทรศัพท์มือถือ ทุกคนพร้อมจะช่วยเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจัดการปัญหานี้ เพียงแต่รัฐบาลต้องแก้กฎหมายเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนช่วย อาทิเช่น แก้กฎหมายให้ผู้แจ้งได้รับส่วนแบ่งค่าปรับจากผู้กระทำความผิดกฎจราจร เพื่อเป็นแรงจูงใจ นายแพทย์แท้จริง กล่าว