นางออง ซาน ซูจี ผู้นำเมียนมา กล่าวว่าสถานการณ์รุนแรงครั้งใหม่ในรัฐยะไข่ คือ”ความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด” แต่ใช่ว่าจะแก้ไขได้ในทันที เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังตั้งแต่สมัยก่อนอาณานิคม
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ว่านางออง ซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐและรมว.กระทรวงการต่างประเทศเมียนมา กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี ว่ารัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของเธอกำลังเผชิญกับ “ความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด” อย่างไรก็ตาม นางซูจีมองว่าไม่สมเหตุสมผลที่ทุกฝ่ายต้องการให้เธอแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ภายในระยะเวลาเพียง 18 เดือน ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาในการบริหารประเทศ นับตั้งแต่รัฐบาลของเธอรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว เนื่องจากสถานการณ์ในรัฐยะไข่เป็นเช่นนี้มานานหลายทศวรรษ หรืออาจย้อนกลับไปถึงประวัติศาสตร์ในยุคก่อนอาณานิคมเสียอีก
ทั้งนี้ นางซูจี วัย 72 ปี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2534 กล่าวย้ำว่ารัฐบาลของเธอพยายามอย่างสุดความสามารถ ในการปกป้อง “ประชาชนทุกคน” ในรัฐยะไข่ “ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองของเมียนมาหรือไม่” แม้ทรัพยากรหลายด้านยังไม่พร้อมหรือไม่เพียงพอก็ตาม พร้อมทั้งกล่าวเตือนสื่อมวลชนอย่านำเสนอเพียง “ข้อมูลบนยอดภูเขาน้ำแข็ง” เนื่องจากจะเป็นการส่งเสริมกิจกรรมของ “กลุ่มก่อการร้าย” โดยปริยาย
ถ้อยแถลงของนางซูจีเกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนักจากหลายฝ่ายในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) และรัฐบาลสหรัฐ ตลอดจนปรระชาชนบางส่วนที่เรียกร้องผ่านเว็บไซต์ change.org ให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลริบรางวัลคืนจากเธอ โดยเป็นผลจากสถานการณ์รุนแรงและนองเลือดครั้งใหม่ในรัฐยะไข่ ที่ปะทุขึ้นเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 400 คน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกองทัพกอบกู้โรฮีนจาแห่งอาระกัน ( อาร์ซา ) และยูเอ็นประเมินว่าราว 1 ใน 4 ของชาวโรฮีนจาในเมียนมาที่มีอยู่ประมาณ 1.1 ล้านคน พยายามข้ามพรมแดนมายังบังกลาเทศตั้งแต่เดือนต.ค. ปีที่แล้ว โดยในจำนวนดังกล่าวราว 164,000 คนเป็นการลี้ภัยเฉพาะในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา.
คลิปประกอบ : Al Jazeera English