เยาวชนตัวแทนประเทศไทย ‘ทีมแอสโทรนัต” จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศแอสโตรบี (Astrobee) ของ NASA ที่ปฏิบัติงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ในโครงการคิโบะ โรบอต โปรแกรมมิง ชาเลนจ์ ครั้งที่ 5 (The 5th Kibo Robot Programming Challenge) ซึ่งมีตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันจาก 12 ชาติ
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินการจัดแข่งขันโครงการ The 5th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์ประเทศไทย โดยทีมแอสโทรนัต (Astronut) เป็นทีมชนะเลิศ และเป็นทีมตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงแชมป์นานาชาติ ณ ศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการเดินทางจากบริษัท เดลว์ แอโรสเปซ จำกัด และ บริษัท 168 ลัคกี้เทรด จำกัด
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ทีมแอสโทรนัต ประกอบด้วยสมาชิก 4 คน ได้แก่ นายธรรญธร ไชยกายุต ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า นายชิษณุพงศ์ ประทีปพงศ์ ชั้นปีที่ 1 สาขากายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล นายชยพล เดชศร ชั้นปีที่ 1 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายสิรวิชญ์ แพร่วิศวกิจ ชั้นปีที่ 1 สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เข้าร่วมการแข่งขัน The 5th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์นานาชาติ เมื่อวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (JAXA) และถ่ายทอดสดทาง YouTube ช่อง JAXA จากศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนักบินอวกาศนาซา เจเน็ต เอปส์ (Janet Epps) ทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขันอยู่บนห้องทดลองคิโบะโมดูล สถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อค้นหาสุดยอดทีมเยาวชนจากทั่วโลก ที่สามารถทำคะแนนได้สูงสุดในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ให้ปฏิบัติภารกิจซ่อมแซมสถานีอวกาศ ซึ่งมีตัวแทนเยาวชนจาก 12 ชาติ เข้าร่วมการแข่งขัน เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
“ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมแอสโทรนัต จากประเทศไทย คว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้สำเร็จ ถือเป็นการแสดงความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา JAVA ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติให้เคลื่อนที่ไปอ่าน QR Code และยิงแสงเลเซอร์เข้าเป้าหมายทำคะแนนได้สูงเป็นอันดับที่ 1 ของการแข่งขัน สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ จากความสำเร็จของเยาวชนไทยในครั้งนี้ สวทช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนทั้งสี่คนจะได้เรียนรู้ และได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า สามารถนำมาแบ่งปัน ต่อยอด รวมทั้งถ่ายทอดให้แก่เพื่อนๆ เยาวชนไทยรุ่นต่อไป”
ด้าน นายธรรญธร ไชยกายุต นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า หัวหน้าทีมแอสโทรนัต กล่าวถึงความรู้สึกหลังทราบผลการแข่งขันว่า พวกเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่คว้าชัยชนะครั้งนี้มาได้ ต้องขอบคุณความตั้งใจและความพยายามของทุกคนในทีม แม้จะเจออุปสรรคจากสภาพแวดล้อมจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ แต่เราก็เตรียมตัวรับมือไว้ล่วงหน้า ทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แถมยังทำเวลาได้ยอดเยี่ยมอีกด้วย การได้นำโค้ดที่เราพัฒนาไปใช้จริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่จะนำไปปรับใช้และต่อยอดต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน
“นอกจากการแข่งขัน พวกเรายังได้เยี่ยมชมองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นที่เมืองสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น รู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นการทำงานของห้องควบคุมปฏิบัติการ (Mission Control Room) ที่คอยติดต่อสื่อสารกับสถานีอวกาศนานาชาติ ได้เห็นศูนย์ฝึกนักบินอวกาศ (Astronaut Training Center) และได้รับประโยชน์มากมายในด้านองค์ความรู้ที่ใช้ในการปฏิบัติการในอวกาศ ที่สำคัญตลอดการทำกิจกรรมยังได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ต่างชาติมากมาย ทั้งญี่ปุ่น เนปาล ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานซึ่งกันและกัน สุดท้ายต้องขอขอบคุณ สวทช. และ JAXA ที่จัดการแข่งขันนี้ขึ้นมา รวมทั้งขอขอบคุณบริษัทเอกชนและผู้มีส่วนร่วมอื่นๆ ที่สนับสนุนการเดินทางเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้พวกเราได้สัมผัสใกล้ชิดกับการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ในอวกาศ และมีโอกาสพูดคุยกับนักบินอวกาศ คุณโนริชิเงะ คะไน (Norishige Kanai) ที่มีประสบการณ์ภารกิจที่สถานีอวกาศนานาชาติมาแล้ว”
ทั้งนี้ ทีมแอสโทรนัต สามารถคว้ารางวัลอันดับ 1 มาครอง ด้วยคะแนน 253.09 คะแนน ส่วนรางวัลอื่น ๆ ได้แก่ รางวัลอันดับ 2 ฟิลิปปินส์ 250.88 คะแนน และรางวัลอันดับ 3 บังคลาเทศ 153.92 คะแนน สามารถรับชมการแข่งขันย้อนหลังได้ทาง YouTube ของ JAXA ที่ลิงก์ https://www.youtube.com/live/v-ZtCfUONVU
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวความเคลื่อนไหวโครงการกิจกรรมวิทยาศาสตร์อวกาศสำหรับเยาวชนได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation และแฟนเพจ NSTDA SPACE Education