หลังจากกลุ่มงานปูนปั้นเสร็จ ก็ส่งมาลงสีพื้น และระบายสีกลุ่มนาคปักษา นกอรหัน เทวดา ฯลฯ สัตว์ในป่าหิมพานต์….
นี่คือ งานอีกส่วนของประติมากรรมรอบพระเมรุ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งงานกลุ่มนี้อาสาสมัครศิลปินและช่างเขียนสีที่มีความเชี่ยวชาญได้ช่วยกันทำงานส่วนนี้อย่างต่อเนื่องหลายเดือน และยังคงทำอยู่ทุกวัน เพื่อให้เสร็จก่อนงานถวายพระเพลิง
หากใครได้ไปเห็นการทำงานของอาสาสมัครทำงานศิลป์เหล่านี้ ที่หอประติมากรรมต้นแบบ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็จะเห็นว่า อาสาสมัครทุกคนลงสีด้วยความใส่ใจ ละเอียดปราณีต โดยส่วนใหญ่ทิ้งงานประจำไว้ชั่วคราว เพื่อมาช่วยกันทำงานนี้
อาสาเหล่านี้ บางคนเป็นอาจารย์สอนศิลปะ เป็นศิลปิน มีทั้งรุ่นเล็ก รุ่นกลาง รุ่นใหญ่
งานนี้พวกเขาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ทำด้วยใจ”
ในกลุ่มอาสาสมัครทีี่เป็นศิลปินและคนทำงานศิลป์ ยังมีคุณป้าอีกสองคนกำลังนั่่งระบายสีปูนปั้นสัตว์หิมพานต์ตั้งแต่เช้าจรดเย็น อย่างมีสมาธิ
“ถ้าจะสัมภาษณ์ผม ให้ไปสัมภาษณ์คุณป้าสองคนนี้ดีกว่า มาด้วยใจจริงๆ คนหนึ่งเป็นอดีตข้าราชการครูอาชีวศึกษา จ.ชลบุรี อีกคนมาจากกาญจนบุรี ตั้งใจทำงานมาก” เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินใหญ่ กล่าว
คนที่มาจาก อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี วัย 72 ปี เป็นเจ้าของพรไพลินริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท ซึ่งปัจจุบันมอบธุรกิจให้ลูกๆ บริหารจัดการ
เธอเป็นหนึ่งเดียวในงานเขียนสีประติมากรรมรอบพระเมรุที่อายุมากที่สุด และไม่ได้ทำงานศิลป์มาก่อน
“ป้าบอกลูกว่า ทำอะไรก็ได้ ทำได้หมด ขอให้ได้ทำ อยากทำเพื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 “ภัทรภร เต็งเที่ยง กล่าว
ก่อนหน้านี้เธอมีโอกาสทำงานลงรักปิดทองมาบ้าง แต่เป็นงานพื้นบ้าน ที่ไม่ได้ใช้ทักษะงานศิลป์เหมือนศิลปินหรือช่างศิลป์ที่ทำงานเขียนสี แต่เธอก็มีโอกาสได้มาลงสีพื้นให้สัตวว์หิมพานต์เหล่านี้
“เมื่อก่อนพระในบ้านก็เอามาลงรักปิดทอง ไม่เคยทำงานศิลปะอะไรมาก่อน ตอนนี้เราก็เกษียณ ธุรกิจก็ให้ลูกๆ หมดแล้ว ตอนนี้อยากทำอะไร ก็ทำ อยากทำงาน เพื่อถวายในหลวง ถ้าเขาให้เสิร์ฟน้ำก็ทำ”
เธอย้อนความว่า ตอนได้ข่าวว่า กลุ่มช่างสิบหมู่กำลังรวบรวมอาสาสมัครที่ทำงานศิลปะมาทำงานเขียนสีประติมากรรมรอบพระเมรุ รู้สึกอยากมีส่วนร่วมในงานนี้บ้าง
“เราก็พอจับพู่กันทำงานได้บ้าง ทุกอย่างก็มาฝึกตรงนี้ เราทำด้วยใจ เพราะก่อนหน้านี้ ก็ทำดอกไม้จันทน์ ลงทุนเองทำประมาณหมื่นดอก ทำให้ได้มากที่สุด ” ภัทรภร เล่า
แต่ด้วยใจที่มุ่งมั่นอยากทำงานส่วนนี้ เพื่อถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 เธอจึงได้งานลงสีทองเบื้องต้นให้สัตว์หิมพานต์ ก่อนที่กลุ่มงานที่เข้าใจเรื่องสีจะนำมาลงสี โดยช่วงที่เธอมาทำงานก็นั่งรถเมล์มาเองเกือบทุกวัน
“มาเป็นอาสาสมัครที่นี่ ก็ไม่ต้องมีใครมารับมาส่ง นั่งรถเมล์ นั่งเรือจากนนทบุรี บางทีก็หลงๆ บ้าง มีความสุขที่ได้ทำงานนี้”
เธอเล่าชีวิตตัวเองว่า ปกติแล้วเป็นอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ชีวิตก็ไต่เต้าสร้างฐานะจากศูนย์
“จบแค่ประถม 7 ชีวิตเริ่มจากขายอาหาร ค่อยๆ เก็บเงินจนสร้างโรงแรม ทำปั๊มน้ำมัน แล้วดิ้นรนมาทำรีสอร์ทห้าสิบห้อง ล่าสุดกิจการให้ลูกๆ บริหาร เราก็หันมาทำบุญ คนเราต้องรู้จักพอ รู้จักกิน รู้จักใช้”
เมื่อทำงานกับคนทำงานศิลป์รุ่นหลาน รุ่นลูก รุ่นน้องๆ เธอบอกว่า มีความสุขมาก
“บอกเด็กๆ ว่าถ้าเสร็จงานนี้ ก็คงเหงา งานตรงนี้ก็ลงสีพื้นธรรมดา แล้วไปส่งให้แผนกที่ลงลวดลาย“
คนทำงานศิลป์ ข้างๆ คุณป้าวัย 72 ปี บอกว่า พอสีแห้ง ว่างๆ เธอก็จะไปเดินเสิร์ฟน้ำให้คนอื่น
“ทุกๆเดือนก็จะทำอาหารมาแจกคนที่มาถวายพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 อยู่แล้ว เรามาทำตรงนี้มีความสุขมาก”